Family Mart ไต้หวัน ขับเคลื่อน ​Low-Carbon Economy พร้อมดึง AI รับมือธุรกิจร้านสะดวกซื้อ​แข่งขันรุนแรง

ธุรกิจค้าปลีกในไต้หวัน โดยเฉพาะในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งความหนาแน่นของจำนวนร้านสะดวกซื้อต่อจำนวนประชากรของไต้หวันถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว

ขณะที่​แบรนด์ร้านสะดวกซื้อสำคัญในไต้หวัน ปัจจุบันมีอยู่ 4 ราย ประกอบด้วย 7-Eleven ที่มีสาขา​มากที่สุด ประมาณ 6,600 สาขา​ รองลงมาได้แก่ Family Mart ​ประมาณ 4.200 สาขา​,  Hi-Life ​ประมาณ 1,600 สาขา และ OK Mart ​ประมาณ 800 สาขา นอกจากนี้ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในไต้หวันอย่าง Shopee ยังได้หันมาขยาย Shopee Shop เพื่อเป็นช่องทางในการรับส่งสินค้าที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้มีการขยาย​ร้าน Shopee Shop​ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีกว่า 1,000 สาขาแล้ว ส่งผลให้แนวโน้มการแข่งในธุรกิจร้านสะดวกซื้อยิ่งเพิ่มสูงมาก​ขึ้นไปอีก

มร.เยี่ยหลงถิง ประธานบริษัท Family Mart ของไต้หวัน กล่าวถึงแนวโน้ม​ธุรกิจค้าปลีกของไต้หวันใน​ปีนี้ว่า จากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้จำเป็นต้องติดตามสถานการร์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปรับตัวรับทั้งการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นของผู้บริโภค ​โดยใน​​ปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่น่าพอใจสำหรับ Family Mart ในไต้หวัน ผ่านตัวเลขที่​สะท้อนถึงความแข็งแรงของธุรกิจผ่าน 3 มิติสำคัญ ​ทั้งการเพิ่ม​​ Economy of Scale ของธุรกิจ ที่มีจำนวนสาขาในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น​ 4,234 แห่งทั่วไต้หวัน และ​ตัวเลขการเติบโต Same Store Growth ที่ทำยอดขายเฉลี่ยของแต่ละสาขาได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งอัตรากำไรขั้นต้นที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ​โดยสินค้าใน Family Mart ยังมีสัดส่วนสินค้าที่แตกต่างจากตลาด หรือ Differentiation มากกว่า 1 ใน 3 หรือราว 33% ทำให้เชื่อว่ากลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจของ Family Mart มีประสิทธิภาพ และจะสามารถผลักดันให้​เติบโตได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นี้

ขณะที่ความท้าทายสำคัญของธุรกิจ คือ ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งจะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น และนำมาซึ่งปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ตลอดเวลา

ส่วนด้านเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อของไต้หวันในปี 2566 มีตัวเลขลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจรายเดือนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง​ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะแสดงถึงการขยายตัวของตลาด โดยเฉพาะ​การประกาศนโยบาย Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2593 ซึ่ง​รัฐบาลไต้หวัน​จะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ ​และ​ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Greenflation และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นพร้อมสะท้อนไปสู่ราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น กลยุทธ์ Low-Carbon Economy จะเป็น Topic ที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี​ และเป็น​การบ้านสำคัญของ​ผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ

อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ การที่ผู้บริโภคยุคหลังโควิดหันมาใส่ใจสุขภาพ และใส่ใจต่อรายละเอียดของสินค้ามากขึ้น ทำให้ Family Mart ได้เปิดตัวสินค้ากลุ่ม Clean Label เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพ​ โดยเน้น​ขายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่ลดการใส่สารปรุงรส ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค รวมทั้งการนำ AI และ IoT เข้ามาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจสะดวกซื้อมากขึ้น เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ​​และเกิดแนวโน้มการบริโภคแบบ D2C (Direct-to-Customer) ​ช่วย​​ส​ร้างความได้เปรียบในธุรกิจได้มากขึ้น ในฐานะที่เป็น Physical Store ​ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุดและยังตั้งอยู่ใกล้​ผู้บริโภคมากที่สุดอีกด้วย

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Stay Connected
Latest News