ExperienceTop Stories

ทำความเข้าใจ ‘Carbon Ecosystem’ เร่งวางโครงสร้างเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Low-carbon Economy ก่อนตลาดขยับสู่ภาคบังคับ

เมื่อความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ Carbon Ecosystem เป็นหนึ่ง​ปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้ พร้อมเร่งปรับตัวเพื่อรับมือต่อกฏเกณฑ์ใหม่ของโลกธุรกิจ และนโยบายในการ​ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Economy) ภายใต้เป้าหมายในการลลดการปลดปล่อยคาร์บอนพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นหนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนและเติมเต็มโครงสร้าง Carbon Ecosystem ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและทุกมิติ เพื่อมีส่วนช่วยดูแลบริษัทจดทะเบียนและภาคธุรกิจของประเทศไทย ให้สามารถปรับตั​วและขับเคลื่อนสู่ Low-carbon Economy​ ทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ​คาร์บอนและตลาดคาร์บอน การพัฒนาเครื่องมือช่วย​วัดการปลดปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญขอ​งกลยุทธ์ Decarbonization ​การเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อช่วยสนับสนุน​ภาคธุรกิจ ในการเปลี่ยนผ่านเพื่อรักษาความสามารถแข่งขัน ช่วงรอยต่อ​สู่ภาคบังคับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้​างหน้า​

ร่วมวางโครงสร้าง Carbon Ecosystem 

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) ​และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด  (SCG ลำปาง) ​ร่วมฉายภาพการพัฒนา Carbon Ecosystem​ พร้อมแชร์  Best Practice ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการคาร์บอนเครดิตในรูปแบบการปลูกป่า​ ที่​การได้คาร์บอนเครดิตเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่ผลลผัพธ์สำคัญคือการมีเครื่องมือในการดูดซับคาร์บอนออกจากอากาศได้โดยตรง รวมทั้งช่วยเพิ่มความหลากหลายทางธรรมชาติ (Biodiversity) ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เชื่อมโยงมา​ถึงการเพิ่มแหล่งอาหารทางธรรมชาติ และยกระดับ​คุณภาพชีวิตให้ชุมชนในพื้นที่ได้ด้วย

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมด้วย คุณอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ คุณบวร วรรณศรี  ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ  บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ให้ข้อมูลร่วมกันผ่านฟอรั่ม ‘Carbon Ecosystem: โครงสร้างเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Low-carbon Economy’ 

ทั้งนี้ ​ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร ​ได้เปิดเผยข้อมูลพัฒนาการของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสัดส่วนราว 50% หรือ 445 แห่ง จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 880 แห่ง สามารถจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน และการจัดทำการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร (Carbon Footprint) ได้แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 30% รวมทั้งจำนวนบริษัทที่จัดทำรายงาน พร้อม​การทวนสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วในสัดส่วน 30% หรือ 267 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในช่วงนำร่องโครงการถึง 47%  จากการพัฒนาแพลตฟอร์ม ESG Data Platform ที่มีเครื่องมือช่วยคำนวณการปลดปล่อนคาร์บอน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจ
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุน บจ. ในการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อเร่งให้เกิดการปรับตัว ​รวมทั้งการแชร์องค์ความรู้ หรือ Best Practice ผ่าน SET ESG Academy การพัฒนาระบบฐานข้อมูล และเครื่องมือในการจัดทำรายงานและคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร ​ การเชื่อมโยงข้อมูลจาก ESG Data Platfom​ ไปยังสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ​ไปจนถึงการเชื่อมโยง​สู่การยกระดับและพัฒนาตลาดคาร์บอนของประเทศไทย ทั้งการให้ข้อมูลทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิต ไปจนถึงการศึกษาแพลตฟอร์ม​ในหลากหลายรูปแบบทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ และข้อมูลโครงการคาร์บอนเครดิตต่างๆ เพื่อสนับสนุนบริษัทที่ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น”
ด้าน  คุณอโณทัย สังข์ทอง กล่าวถึงภาพรวมระบบนิเวศคาร์บอนในประเทศไทย ปัจจุบันยังเป็นการดำเนินการในรูปแบบของภาคสมัครใจ และกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคบังคับ ทำให้ในอนาคตผู้ประกอบธุรกิจต้องสามารถรายงานการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องของภาษีคาร์บอนที่ต้องทำความเข้าใจ และกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์ในการดำเนินธุรกิจ หากมีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอนาคต ซึ่งขณะนี้​ได้นำส่งร่างกฏหมายให้สำนักนายกพิจารณาแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนต่างๆ ​คาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ราวอีก 2-3 ปีข้างหน้า
“ประเทศไทยตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ขณะที่ตามโรดแม็พ​​​จะเพิ่มความสามารถในการลดคาร์บอนให้ได้ 30-40% ภายในปี 2030 การมีเพียงนโยบายในภาคสมัครใจ อาจทำให้ไม่สามารถไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีหลากหลายกลไกมาใช้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของภาคบังคับ ประกอบกับเงื่อนไขจากต่างประเทศ เช่น มาตรการ CBAM ของทางสหภาพยุโรป ทำให้ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัว​เพื่อจำกัดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ให้ได้ตามกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับและส่งผลให้มีต้นทุนที่เพิ่มสูงมากขึ้น โดยไม่สามารถใช้คาร์บอนเครดิตมาชดเชยได้ ​ มีเพียงภาษีคาร์บอน และสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จัดสรรจากภาครัฐ  (Allowances) ซึ่งเป็นกลไกที่จะอยู่ในมาตรการภาคบังคับ “​
โครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่ช่วยพัฒนาผู้คนและชุมชน 
คุณบวร วรรณศรี  ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กับการแชร์ Best Practice ในโครงการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ภายในธุรกิจ ‘โรงปูน ลำปาง’ ผ่านแนวทาง NCF (Natural Clilmlate Solutions) หรือการกำจัดคาร์บอนตามแนวทางธรรมชาติ ​ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่ SCG ใช้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจ ทั้งการใช้พลังงาน​ความร้อน การใช้ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ​การลดการใช้วัตถุดิบ เนื่องจาก กระบวนการผลตซิเมนต์จะมีการปล่อยคาร์บอนตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Carbon Capture มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการ Reduction เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
ทั้งนี้ โรงปูน ลำปาง ได้รับสัมปทานพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม และสามารถฟื้นฟูจนกลายเป็นป่าที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยการมุ่งพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ทั้งการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า สร้างฝายชะลอน้ำ รวมทั้งสร้างแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า โดยให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคชุมชน และสร้างเครือข่ายจากคนในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะการมีส่วนเฝ้าระวังไฟป่า​
“คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการถือว่าเป็นผลพลอยได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ การฟื้นคืนธรรมชาติ ฟื้นฟูพื้นที่ป่า ที่ทำให้ได้ทั้งความหลากหลายทางธรรมชาติกลับคืนมา รวมทั้งเพิ่มแหล่งอาหารให้คนในชุมชน รวมทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ ขณะที่การทำคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ ยังเป็นรูปแบบเดียวที่เป็นเครื่องมือในการดูดซับคาร์บอนออกจากอากาศได้โดยตรง และถือเป็นหนึ่งโอกาสของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่สามารถปลูกต้นไม้ได้ง่าย จึงควรส่งเสริมโครงการในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับคาร์บอนเครดิตจากโครงการยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้ชุมชนนำไปขายหรือใช้เพื่อชดเชยเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”

เห็นได้ว่า การพัฒนา Carbon Ecosystem ไม่ใช่แค่การสร้างตลาดเพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเท่านั้น แต่หากสามารถต่อยอดในการนำไปพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ จะทำให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาคน การดูแลคนในพื้นที่รอบโครงการไปพร้อมกันได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนา ASEAN CARBON COMMON FRAMEWORK  หรือกรอบดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน เพื่อสร้างมาตรฐานและพัฒนา​คาร์บอนเครดิตภายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และโปร่งใสในระยะยาวในฐานะ​ภูมิภาคผู้นำด้านสภาพอาดาศ  รวมทั้งสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้น