ประเดิมเวทีงานสัมมนา ESGNIVERSE 2025: Real – World of Sustainability ภายใต้คอนเซปต์ ‘From Reports to REAL IMPACT’ โดย Brand Buffet ร่วมกับ SD Thailand ด้วยแนวคิดการขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ จาก คุณอาร์ม – ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด (BRANDi & Companies)
โดยได้มาร่วมแชร์มุมมองผ่านหัวข้อ ‘What is Next for the Sustainable Growth‘ เพื่อสะท้อนแนวคิดการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่เพียงสร้าง Profit แต่ต้องสามารถผนวก People และ Planet ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ด้วย
คุณอาร์ม มองปัญหาที่ผ่านมา เหมือนการตั้งสมการที่ผิด เพราะการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงปี 1800 -2000 เป็นต้นมา มุ่งโฟกัสเพียงการสร้าง กำไร (Profit) ให้ได้มากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึง คน (People) และ สิ่งแวดล้อม ( Planet) ไว้ในสมการเดียวกัน
ขณะที่ผลที่ตามมา และเห็นได้ชัดเจนหลังจากปี 2000 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ที่สภาพเศรษฐกิจก็ไม่ได้เติบโตตามที่หวัง พร้อมทั้งยังสร้างผลกระทบทั้งต่อผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นห่วงโซ่ตามมาอีกด้วย
“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบที่ผ่านมา ไม่เพียงไม่ช่วยให้ GDP หรือเศรษฐกิจเติบโต แถมยังทำให้ต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงขึ้นกว่าเดิม ศักยภาพหรือ Productivity ของคนทำงานก็ลดลงด้วย โดยปัจจุบันพบว่า คนทำงาน 1 คน สร้างการเติบโตให้ GDP ในช่วง 10 ปีนี้ น้อยลงกว่าเดิม 1.5% ขณะที่รายได้หรือเงินเดือนต่อคนลดลง 0.8% ซึ่งส่วนต่าง 0.7% เป็นภาคเอกชนที่ต้องแบกรับไว้ เพราะไม่สามารถปรับลดค่าจ้างตาม Productivity ที่ลดลงได้ รวมทั้งค่าครองชีพ และเงินเฟ้อก็สูงขึ้น ส่งผลให้เงินในกระเป๋าทุกคนน้อยลง กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หลายธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดและไปต่อได้ จึงอยู่ในสถานการณ์ ตายแล้ว ตายอยู่ ตายต่อ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับสถานการณ์เช่นนี้ได้ไหว”
สร้างบาลานซ์ Economy + Sustainability
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบที่ผ่านมา คือ เกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ เพราะเมื่อสโคปภาพการเติบโตของ GDP ในช่วง 4-5 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่า เศรษฐกิจที่เติบโตทุกวันนี้มาจากคนเพียง 25% จากเดิมที่มีบทบาทมากเกือบครึ่งที่ 45%
ขณะที่ตอนนี้การเติบโตส่วนใหญ่ถึงกว่า 40% มาจากกลุ่มเทคโนโลยีที่เรียกว่า Total Factor Productivity หรือเทคโนโลยีที่มีบทบาทในการช่วยผลักดันการเติบโต โดยเฉพาะ AI ที่สามารถสร้างให้ธุรกิจเกิดความแตกต่าง จึงช่วยเพิ่ม Productivity และแนวโน้มจะเกิดช่องว่างระหว่างคนและเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
เมื่อคนเริ่มมีบทบาทในห่วงโซ่ของการผลิตน้อยลง ก็จะเป็นเหตุผลให้เกิดการลดการจ้างแรงงานคน กระทบต่อรายได้ที่ลดลง แต่รายได้ส่วนใหญ่จะไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีแทน
นอกจากมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง ในทางกลับกัน ยังเกิดภาวะการบริโภคมากขึ้น หรือ Overconsumption โดยพบว่าการบริโภครวมของประชากรทั้งโลกกว่า 8 พันล้านคนในปัจจุบัน มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปมากกว่าที่มีอยู่ถึง 1.75 เท่า ทำให้โลกของคนในรุ่นถัดไปจะสั้นลง โดยคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้โลกขาดแคลนน้ำสะอาดใช้ ภายในปี 2030 และกระทบต่อระบบความมั่นคงทางอาหาร ในปี 2050 รวมทั้งสภาพอากาศที่จะแปรปรวนและรุนแรง จนกระทบต่อการใช้ชีวิต
“โลกล้มเหลวต่อความพยายามลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ไปแล้ว จากนี้ทำได้ดีที่สุดคือ การรักษาระดับไว้ที่ Best Case ราว 1.8 องศาเซลเซียส และ Worst Case ต้องไม่เกิน 2.6 องศาเซลเซียส สะท้อนได้ว่า สิ่งที่โลกเดินมาตลอดนั้นไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง และขาดความสามารถในการพัฒนา New Growth หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างการเติบโต โดยตลอดกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1820 ถึงปัจจุบัน มูลค่าทางเศรษฐกิจเติบโตเป็นร้อยเท่าจาก 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (USD) เป็น 105 ล้านล้าน USD แต่โตมาจากเม็ดเงินลงทุนที่สูงถึง 307 ล้านล้าน USD เท่ากับว่า เราต้องใส่เงินถึง 3 บาท เพื่อให้มีรายได้ 1 บาท ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินที่ทุกคนต้องแบกรับอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”
คุณอาร์ม ชี้ให้เห็นปัญหาเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่โลกไม่มีเงิน แต่เงินอยู่ที่ภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถหาวิธีนำเงินเหล่านี้ออกมาใช้ได้ โดยทุกประเทศทั่วโลก เงินของภาคเอกชน หรือ Private Wealth จะมีมูลค่ามากกว่างบประมาณจากภาครัฐหลายเท่าตัว แม้แต่ประเทศไทยเองที่มีสัดส่วนต่างกันเกือบ 4 เท่า
ดังนั้น วิธีแก้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้คนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะภาคเอกชน เข้ามาอยู่ในระบบของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และผนวกการขับเคลื่อน Economy โดยภาคเอกชน ที่มุ่งเน้นสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต เข้ากับเรื่องของ Sustainability ที่ขับเคลื่อนโดยภาครัฐ
เพื่อก้าวข้ามโมเดลการเติบโตเก่าๆ ที่เน้นแต่เศรษฐกิจเติบโต แต่คนและสิ่งแวดล้อมแย่ลง แม้ว่าอาจจะต้องทำให้ช้าลงบ้าง อ้อมไปบ้าง แต่จะเป็นการสร้างการเติบโตที่สามารถพาให้ทั้ง Human Capital และ Nature Capital เติบโตไปพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ โมเดลที่เชื่อว่าจะเป็นโซลูชัน ในการแก้ปัญหา คือ Sustainomy เพื่อเปลี่ยนโมเดลการเติบโตจาก Consume The Future มาเป็น Create The Future โดยเปลี่ยนวิธีคิดจาก Norm. เดิมๆ ที่สะท้อนถึงการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน เพราะหากปล่อยให้เอกชนต้องแบกรับต่อไป อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแทนการเป็นโซลูชัน
จึงจำเป็นต้องหาโมเดลในการผนึกความร่วมมืออย่างถูกต้อง เพื่อให้ Risk ที่ภาคเอกชนจะต้องเข้าไปสนับสนุนประชาชน นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ผลักดันบริษัทให้เติบโต หรือกลุ่มเปราะบางต่างๆ กลายเป็น Opportunity หรือโอกาส ขณะที่ภาครัฐก็จะมีศักยภาพในการดูแลประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดีมากขึ้น
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกการเปลี่ยนผ่าน จำเป็นต้องอาศัยทุน หรือ Capital โดยเฉพาะการช่วยให้ภาคเอกชนแข็งแรงมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อน 3 ระดับ ทั้ง Macro ผ่านการปรับปรุงเงื่อนไข หรือกฏระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องการก้าวสู่ New Economy เพื่อนำเงินสำหรับการพัฒนามาใช้ให้เกิดการพัฒนาได้จริง, ระดับ Market ด้วยการหาตลาด หรือ Matching เพื่อช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย และมีต้นทุนต่ำ พร้อมสร้างกำไรแบบพรีเมียม เพิ่มความแข็งแรงในระบบนิเวศธุรกิจ รวมทั้งระดับ Micro ต้องมุ่งเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้พร้อมรับต่อทุกความเสี่ยงในอนาคต โดยที่ยังรักษาความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการ หรือ Capacity Building โดยเฉพาะปัจจุบันทุกธุรกิจต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากและท้าทายอยู่ตลอดเวลา จึงต้องสามารถหาท่าใหม่ๆ มาใช้ในการทำธุรกิจเพื่อยังคงสามารถรอดและเติบโตต่อไปได้ ซึ่งการจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนที่แท้จริงนั้น ต้องสามารถช่วยแก้ปัญหาของวันนี้ได้ โดยไม่เพิ่มปัญหาให้วันพรุ่งนี้ และสร้างให้เกิดเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับวันต่อไป” คุณอาร์ม กล่าวสรุปส่งท้าย