DialogueTop Stories

Best Practice : ‘เซ็นทรัล กรุ้ป & ฟู้ดแพชชั่น’​ ชูโมเดลสร้าง​ Real Impact​ ธุรกิจต้องเติบโตด้วย Value และ Meaningful

กรณีศึกษาจาก 2 องค์กรชั้นนำ อย่าง 'เซ็นทรัล กรุ้ป' และ 'ฟู้ดแพชชั่น' กับการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้าง Real Impact ที่มีผลลัพธ์แบบ​จับต้องได้

อีกหนึ่งไฮไลท์ในงานสัมมนา ESGNIVERSE 2025: Real – World of Sustainability : From Reports to REAL IMPACT ​ผ่านโชว์เคสของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และเกิดผลกระทบเชิงบวกที่สามารถจับต้องได้จริง  

Best Practice จาก 2 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ ที่มี​โมเดลขับเคลื่อน Positive Impact ​ผ่านการดำเนินธุรกิจ มาร่วม​แชร์องค์ความรู้  มุมมอง และวิธีการขับเคลื่อน​ เพื่อสามารถนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละองค์กร โดย คุณอนาวิน ตั้งพงศ์ไพบูลย์ ผู้บริหารสายงานกลยุทธ์และความยั่งยืน Central Group และ คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Food Passion

‘เซ็นทรัล ทำ’  ขับเคลื่อนด้วย CSV

คุณอนาวิน ตั้งพงศ์ไพบูลย์  ฉายภาพการขับเคลื่อนความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ประกอบด้วยธุรกิจหลากหลาย Business Model ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า ‘เซ็นทรัล ทำ’ เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นและเป้าหมายร่วมกัน ภายใต้แก่นในการขับเคลื่อนคือ การสร้างคุณค่าร่วมกัน หรือ Creating Shared Values (CSV)  โดยมีเป้าหมายในการตอบโจทย์ความต้องการทางสังคม ผ่านความเชี่ยวชาญหรือศักยภาพขององค์กร เพื่อสามารถสร้างให้เกิดคุณค่าได้อย่างสูงสุด พร้อมนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจให้แก่องค์กรเพื่อสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนคือความร่วมมือ เพื่อสร้าง  Meningful ภายใต้แนวทาง ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ 

การขับเคลื่อนของกลุ่มเซ็นทรัล มีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง​ 6 มิติ ทั้งในมิติ​ Social ได้แก่ Community (ชุมชน), Inclusive (ลดความเหลื่อมล้ำ)​ และ Talent (การดูแลพนักงาน) รวมทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายมาเป็นโจทย์สำคัญของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Circularity (เศรษฐกิจหมุนเวียน), Climate (สภาพอากาศ) และ Nature (ธรรมชาติ) โดยบูรณาการให้แต่ละมิติผสานเป็นเนื้อเดียวไปกับการทำธุรกิจ และให้กลายเป็นสิ่งปกติที่พนักงานทุกคนในองค์กรจะสามารถขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนได้แบบเรียบง่ายได้ในทุกวัน ​โดยไม่สร้างภาระที่เพิ่มมากขึ้นให้กับองค์กร

“เซ็นทรัลทำ ขับเคลื่อนโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ​ตาม Purpose ​ธุรกิจในการเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต ผ่านเครือข่ายที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อเข้าใจความต้องการในแต่ละชุมชน รวมทั้งสามารถมีแนวร่วมในพื้นที่เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลลัพธ์ได้จริง”

ทั้งนี้ มีโครงการต้นแบบอย่าง ‘ชุมชนแม่ทา‘ ที่เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2015 จากการโครงการปลูกผักออแกนิกส์ในพื้นที่ โดยทางกลุ่มเซ็นทรัล เข้าไปช่วยรองรับในเรื่องของตลาดผ่านแพลตฟอร์มจริงใจมาร์เก็ต ในท็อปส์ พร้อมทั้งช่วยการพัฒนาองค์ความรู้ในการปลูกผัก การสร้างเครือข่ายเกษตรกร พัฒนาซัพพลายเชนให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น ทำให้ได้ทั้งผลผลิตที่มีคุณภาพ และเพิ่มศักยภาพทั้งผลผลิตและการจัดส่ง รวมทั้งสามารถขยายไปสู่พืชผักที่หลากหลายประเภทได้มากขึ้น ​พร้อมทั้งการพัฒนาต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ขยายตลาดได้กว้างมากขึ้น​ ​รวมไปถึงการต่อยอดรายได้มากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์มาสู่การดึงคนเข้ามาดูงานในพื้นที่ผ่านการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้

ปัจจุบันชุมชนแม่ทา สามารถขยายผลมาสู่การสร้างธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามาสัมผัส ‘วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืน’  ช่วย​​​เพิ่มอาชีพและรายได้ให้ผู้คนในชุมชนมากขึ้น ​จากเดิมที่อยู่ในภาคเกษตรจากผักออแกนิกส์ มาสู่ภาค​บริการ เช่น การทำโฮมสเตย์ การทำ​อาหาร และกิจกรรมภายในท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ภายในชุมชน พร้อมขยายการดำเนินงานจากชุมชน ไปสู่วัดและโรงเรียน เพื่อกระจายการขับเคลื่อนสู่วงกว้างและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน​ได้เพิ่มมากขึ้น  สิ่งที่เกิดขึ้นจึง​ไม่เพียงช่วยให้เศรษฐกิจของชุมชนและพื้นที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับให้เศรษฐกิจของทั้งจังหวัดสามารถเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนได้ด้วยเช่นเดียวกัน

การที่ภาคธุรกิจจะขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ต้องดูทั้ง Inside-Out และ Outside-In ต้องดูว่าธุรกิจของเราสามารถสร้างอิมแพ็คอะไรออกไปให้แก่สังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้บ้าง รวมทั้งสามารถสร้างอะไรกลับมาสู่องค์กรได้บ้าง มีปัจจัยใดบ้างที่สามารถสร้างให้เกิด Value ร่วมกันได้ ซึ่งต้องเป็น Value ที่มีความหมาย (Meaningful)  มีความเชื่อมโยง​เกี่ยวข้อง​ (Relevant) หรือตอบโจทย์ความมุ่งหมาย ( Purpose) เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเดินหน้าได้อย่างยั่งยืนในที่สุด“​

‘​ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น’  มุ่งสร้าง​ความเท่าเทียม

ด้าน คุณชาตยา สุพรรณพงศ์  แห่ง Food Passion ​ที่ประสบความสำเร็จทั้งการสร้างแบรนด์ธุรกิจอาหารอย่าง ​บาร์บีคิวพลาซ่า ฌานา และเรดซัน รวมทั้งยังเป็นผู้นำในการปั้นมาสคอตเพื่อเชื่อมโยงแบรนด์และผู้บริโภคอย่าง ‘บาร์บีก้อน’ ​จนเป็นอีกหนึ่งภาพจำของแบรนด์ได้สำเร็จ

คุณชาตยา ​​กล่าวถึง Purpose ของฟู้ดแพชชั่น ที่มุ่งดูแลโลกและผู้คนในโลกใบนี้ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ผ่านอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการจัดการวงจรอย่างสมดุลด้วยการขับเคลื่อน Data และ Innovation  ขณะที่มิติการขับเคลื่อนธุรกิจ ​ต้องมีความ​สามารถในการสร้างกำไร เพื่อ​เติบโตอย่างยั่งยืน​​ตามหลักการ Tripple Bottom Line เพื่อสร้างความสมดุลทั้งการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลผู้คนในสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม​ด้วย

​โครงการของฟู้ดแพชชั่น ที่​สามารถสร้าง​ Real Impact คือ ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และถือเป็นสถานประกอบการรายเดียว ที่สามารถออกวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ด้านธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจการตลาด ที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พร้อมช่วยพัฒนาทักษะด้านธุรกิจพร้อมเพิ่มวุฒิการศึกษาให้คนในองค์กร ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กรในอนาคตได้ด้วย

“ในฐานะที่เราทำธุรกิจอาหาร  ต้องมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ประกอบกับพนักงานบางส่วน​มีความจำเป็นต้องทำงาน จึงขาดโอกาสทางการศึกษา ​บริษัทจึงมีโครงการทุนสานฝัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้พนักงาน ก่อนจะขยายผลไปสู่กลุ่มผู้ขาดโอกาสในต่างจังหวัดเพื่อสมัครเรียนผ่านศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น ที่ช่วยแบ่งเบาทั้งภาระด้านการศึกษารวมทั้งมีรายได้จากการทำงานไปพร้อมกันได้ด้วย ขณะที่ธุรกิจก็สามารถเติมคนที่มีศักยภาพเข้ามาในธุรกิจ จากการมีศูนย์การเรียนที่ฝึกสกิลที่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ”

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น มีนักเรียนรวมเกือบ 1 พันคน ทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. ขณะเดียวกันยังมีโครงการส่งต่อไปสู่ระดับอุดมศึกษา ทำให้โครงการนี้ ​​มีส่วนช่วยรักษา Employee Engagement ที่ดีให้บริษัท โดยเฉพาะอัตราการลาออกที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในธุรกิจอาหารที่ถือว่าสูงมากด้วยค่าเฉลี่ย 150% ต่อปี  ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการรักษา Talent  รวมทั้ง​​​รักษาความเชี่ยวชาญ และ​คุณภาพการให้บริการได้ตามมาตรฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงเรียนตั้งเป้าหมายพัฒนาคนผ่านโรงเรียนได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม การบริหารและพัฒนาคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพยากรและเวลาในการขับเคลื่อนค่อนข้างมาก รวมทั้งการเร่งสร้างความเชื่อมั่น ทั้งจากพันธมิตรในภาคการศึกษาด้านมาตรฐานการเรียนการสอน ไปจนถึงกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ที่จะไว้วางใจให้บริษัททำหน้าที่ดูแลบุตรหลานของตัวเอง แต่ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนเข้ามาในศูนย์การเรียนฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์กรสามารถผสมผสานบทบาททั้งการเป็นบริษัทที่้ต้องทำธุรกิจและโรงเรียนที่เข้ามาช่วยสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสังคม รวมทั้งสร้างวัฒนธรรม​ที่ผสมผสานทั้งความเป็นมืออาชีพและครอบครัวไว้ได้อย่างลงตัว

“เรามีความเชื่อในการขับเคลื่อนความยั่งยืนระยะยาว ภายใต้แนวทาง Small But Meaningful ทำในสิ่งเล็กๆ แต่มีความหมาย เพราะการขับเคลื่อนธุรกิจมีหลายภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การจะขับเคลื่อนความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ หรือเริ่มต้นจากสิ่งที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว เพื่อไม่เป็นการเข้าไปเพิ่มงานจนทำให้ไม่เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะความยั่งยืนในวันนี้ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือทางรอด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ และต้องผสมผสานไปกับการทำธุรกิจได้ในทุกๆ วัน เพื่อลดการเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่รอบด้าน ทั้งเรื่องสภาพอากาศ  หรือผลกระทบเชิงธุรกิจจากการตั้งเงื่อนไขต่างๆ ภายในตลาด ซึ่งหากไม่ปรับตัว ธุรกิจก็ไม่สามารถเติบโตต่อได้ในอนาคต”​​