TQMalpha ขยายน่านน้ำเติบโตมากกว่าแค่ประกัน สู่กลุ่มการเงิน เทคโนโลยี ตั้งเป้าเข้าถึงลูกค้าได้ 10 ล้านคน ในปี 2026

Big Change ในรอบ 69 ปี สำหรับธุรกิจโบรกเกอร์ประกันชั้นนำของประเทศอย่าง TQM กับการประกาศทรานสฟอร์มขยายเข้าไปสร้างโอกาสในน่านน้ำใหม่จาก Core Business เดิมในธุรกิจประกัน มาสู่กลุ่ม  Financial และแพลตฟอร์มเทคโนโลยี

พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)​ หรือ TQM มาสู่ TQMalpha ในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง กับการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เพิ่ม และเป้าหมายในการเติบโต ในปี 2026 ทั้งการเพิ่มจำนวนลูกค้าจาก 4 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน และรายได้ขยับไปแตะ 50,000 ล้านบาท จาก 30,000 ล้านบาท ซึ่งขาในกลุ่ม Non-insurance จะขยับสัดส่วนมาอยู่ที่ 50% เท่ากับกลุ่มธุรกิจประกัน

ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQM กล่าวถึงการทราสฟอร์มธุรกิจของ TQMalpha ​มาจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้านของ Business Landscape ในปัจจุบัน ทั้งจากพฤติกรรมของลูกค้า คู่แข่ง และเทคโนโลยี ประกอบกับโอกาสทางการตลาดที่ TQM สามารถต่อยอดในการสร้างการเติบโตได้ ทำให้มีการปรับโครงสร้าง จัดกลุ่มธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม ทั้งในกลุ่มเดิมที่แข็งแรงอย่างกลุ่มธุรกิจประกัน ภายใต้ 10 บริษัทย่อย ที่มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อดำเนินธุรกิจในกลุ่มนายหน้าประกันอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งประกันภัย ประกันชีวิต ประกันกลุ่ม การจัดการด้านสินไหม ประกันธุรกิจ การเพิ่มโอกาสจากต่างประเทศในรูปแบบ JV รวมไปถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่ลูกค้า เป็นต้น

ส่วนในอีก 2 กลุ่มใหม่ คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน โดยนำร่องตั้งบริษั​ท อีซี่ เลนดิ้ง จำกัด ในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับของ ธปท.​ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ลูกค้าสำหรับการสร้างหลักประกันในชีวิตและทรัพย์สินได้มากขึ้น รวมไปถึงการขยายโอกาสในกลุ่มพันธมิตรตามเทรนด์ธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจสีเขียว​​ เช่น การให้สินเชื่อรถยนต์ EV สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ Taxi เพื่อเข้าถึงกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ได้มากขึ้น ภายใต้แนวคิด High Cash Minimum Risk ซึ่งภายหลังดำเนินธุรกิจมาสามารถทำผลประกอบการได้ดีต่อเนื่อง และไม่มีหนี้เสียเลย ขณะที่วางเป้าหมายรายได้สิ้นปีนี้ที่ 1,500 ล้านบาท และเพิ่มถึง 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

ขณะที่กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี จะดำเนินงานผ่านบริษัท ชัวร์ครับ.คอม จำกัด สำหรับให้บริการนายหน้าประกันแก่ลูกค้า ด้วยการถือหุ้นผ่านบริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เพื่อมุ่งทำตลาดกลุ่มประกันภัยดิจิทัล ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ในกลุ่ม GenZ  พร้อมนำร่องประกาศลงทุน 40% ในบริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด เพื่อรุกการให้บริการประกันในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ในรูปแบบ Win-win ทั้งการต่อยอดธุรกิจด้านประกันและการเงินบนแพลตฟอร์ม Builk One Group รวมทั้งการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ TQM ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของ Builk One Group

“การขยับของ TQM ในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงโอกาสและจังหวะเวลาที่ใช่ ตลอด 69 ปีที่ผ่านมา เราเหมือนชาวประมงที่มีความชำนาญในการจับปลาในน่านน้ำ แต่ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองแค่การหาปลาในน่านน้ำไทย เพราะมีน่านน้ำอีกหลายแห่งที่เราสามารถเข้าไปได้ ประกอบกับ ในน่านน้ำมหาสมุทรก็ไม่ได้มีแค่ปลา แต่ยังมีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาหมึก ที่เราสามารถจับขึ้นมาได้เช่นกัน ขณะที่การเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาก็เหมือนกับเรามีเครื่องมือมาช่วยให้สามารถตักปลาได้กว้าง และลึกมากกว่าการจับแบบเดิมๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและแข็งแรงในฐานะชาวประมงของเราได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นนั่นเอง”​  ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา กล่าว

ด้าน ดร. อัญชลิน พรรณนิภา ประธาน TQM ​ ได้ให้คำมั่นไว้ว่า​ นับจากวันนี้ไป TQM Corporation จะกลายเป็นอดีตและถูกแทนที่ด้วย TQMalpha ​แต่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ธรรมนูญที่ TQM ยังคงยึดมั่น ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ยุคสมัยก็ตาม คือคำว่า CARE หรือความใส่ใจในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจในพนักงาน ใส่ใจต่อลูกค้า คู่ค้า เพื่อร่วมงาน และสุดท้ายที่ไม่สามารถขาดได้คือ การให้ความใส่ใจต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน

ทลายกำแพง เพื่อเพิ่มโอกาสในธุรกิจประกันภัย

การทรานส์ฟอร์มมาสู่ TQMalpha นอกจากโอกาสทางธุรกิจของกลุ่ม TQM และพันธมิตรจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจแล้ว ยังสามารถช่วยทลายกำแพงบางเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยเติบโตได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดย คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ในฐานะกรรมการบริษัท TQM มีมุมมองว่า ธุรกิจประกันภัย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเสี่ยง ทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คน รวมไปถึงหลักประกันในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยไม่สะดุด จากความเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาวะเงินเฟ้อ ความขัดแย้งต่างๆ หรือเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะมากระทบกับการดำเนินธุรกิจอย่างไม่รู้ตัวได้

“น่าคิดว่า ธุรกิจประกันภัยถือเป็นความจำเป็น และมีประโยชน์อย่างมาก แต่ทำไมการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยยังไม่สูงมากนัก มีเพียงประกันภัยรถยนต์ที่ตลาดใหญ่เพราะมีกฏหมายบังคับให้ต้องซื้อ แต่สัดส่วนในตลาดอื่นๆ ยังน้อยมาก เช่น ในตลาดบ้าน มีคนทำประกันไว้เพียงแค่ 2 ล้านหลัง จากจำนวน 28 ล้านหลัง ซึ่งปัจจัยสำคัญมากจาก “ความยาก” ของการทำประกัน ทั้งยากในการทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นความครอบคลุมของการประกัน​ การให้รายละเอียดของตัวบ้าน การต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในพื้นที่ หรือแม้แต่บางคนที่อยากซื้อก็ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหนที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่คนที่ทำก็ทำมักจะทำไว้พร้อมกับตอนกู้ซื้อบ้าน​ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ประกอบกับยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่เข้ามาทำตลาดในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง”​

การขยับตัวของ TQM ในครั้งนี้ เป็นการเติมคนที่อยู่นอกธุรกิจประกันเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโต ซึ่งเชื่อว่าการมองเห็น Painpoint จากคนนอกอุตสาหกรรม จะสามารถช่วยลด “ความยาก”​ ของการประกันภัยลง ให้ง่ายขึ้นทั้งการเข้าถึง หรือการซื้อ ที่เมื่อตัดสินใจจะซื้อก็สามารถกดซื้อได้เลย ตามแนวทางและวิธีคิดของสตาร์ทอัพ ที่เน้นความง่าย ความสะดวกให้กับผู้บริโภค จึงถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญของธุรกิจประกันภัย เหมือนกับการเติบโตของ  Mobile Banking ที่ก่อนหน้านั้นการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินของคนไทย ก็มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่ต่างกัน แต่ปัจจุบันคนไทยทุกคนมีความคุ้นเคยในการใช้งาน Mobile Banking เป็นอย่างดี ซึ่งมองว่าทิศทางการขับเคลื่อนของธุรกิจประกันภัยก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน

โดยช่วงที่ผ่านมา มีหนึ่ง Lesson Learn ที่น่าสนใจ คือ การขายประกันโควิด แม้ผลลัพธ์จะมีผู้เล่นในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่เราได้เห็นปรากฏการณ์ในการซื้อประกันที่ทำได้ง่ายๆ เข้าถึงได้สะดวก ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก จึงสะท้อนได้ว่า หากมีผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาด สร้างการรับรู้ และพัฒนาโปรดักต์ในตลาดอย่างจริงจังก็จะสามารถสร้างการเติบโตในตลาดได้แบบเกินความคาดหมาย​ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้แบบภาพรวม รวมทั้งได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง Ecosystem โดยที่ TQM กำลังจะเข้ามาบุกเบิกในแนวทางดหล่านี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ข้อมูลตลาดประกันในประเทศไทยโดยรวมอยู่ที่เกือบ 9 แสนล้านบาท เป็นตลาดประกันชีวิตมากกว่า 6 แสนล้านบาท และธุรกิจประกันภัยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยตลาดใหญ่ในธุรกิจประกันภัย คือ ประกันรถยนต์ด้วยสัดส่วน 50-60%  ตามมาด้วยตลาดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 20% ที่เหลือเป็นการประกันภัยในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยของคนไทยมีสัดส่วนที่ราว 30-40%  ขณะที่ TQM มีสัดส่วนรายได้ในตลาดประกันโดยรวมอยู่ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท

Stay Connected
Latest News