ไบเออร์สด๊อรฟ ขับเคลื่อนพันธกิจ “C.A.R.E.+” มากกว่าดูแลผิว มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจบิวตี้เพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ

ในฐานะแบรนด์สกินแคร์ระดับโลก ไบเออร์สด๊อรฟ ​ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแบรนด์ นีเวีย และ ยูเซอริน ไม่สามารถละเลยต่อ Global Challenge และทิศทางของโลกในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจตามวิถีความยั่งยืน

ไบเออร์สด๊อรฟ จึงได้วางนโยบายเพื่อให้ทุกประเทศนำไปเป็นแนวทางขับเคลื่อนในแต่ละตลาด ผ่าน Global Strategy ที่ชื่อ C.A.R.E.+ ด้วยคอนเซ็ปต์  Care Beyond Skin เพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการดูแลผิวพรรณเท่านั้น  แต่ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจที่ต้องดูแลทั้งผู้บริโภค (Consumer) สังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ไปพร้อมกันด้วย

สำหรับกลยุทธ์ C.A.R.E.+  เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2020 เพื่อประกาศพันธกิจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว มากกว่าแค่เพียงการส่งมอบสกินแคร์ที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่เพื่อสร้างความยั่งยืนทุกมิติ ทั้งผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และสังคม พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย และวัดผลได้มากกว่าแค่มิติการเติบโตของธุรกิจ แต่เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์​ ระบบการผลิต การขนส่ง  รวมทั้งการริเริ่มกิจกรรมทางสังคมต่างๆ  ภายใต้งบประมาณตลอดการขับเคลื่อนนี้จนถึงปี 2025 ไว้ที่ราว 300 ล้านยูโรทั่วโลก

คุณสเตฟานี แบร์โรล รองประธานกรรมการอาวุโส ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ กล่าวถึง การวางเป้าหมายในการขับเคลื่อนความยั่งยืนภาพใหญ่ของ Global ที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม​ โดยเฉพาะการ Commitment ในมิติของสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานลง 30% ภายในปี 2025 และเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดในการกระบวนการผลิตทั้ง 100% ภายในปี 2050

“ไบเออร์สด๊อรฟให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์​ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด แต่ไม่กระทบต่อคุณภาพสินค้า รวมทั้งการมาจากแหล่งกำเนิดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเลือกวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเพิ่มมากขึ้น  หรือการเพิ่มเครื่อง Refill ผลิตภัณฑ์ในตลาดที่ผู้บริโภคมีความพร้อม โดยได้นำร่องในเยอรมนี เมื่อกลางปี 2020  ขณะที่กระบวนการผลิตในโรงงานเน้นการใช้พลังงานทดแทนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการกำจัดและบำบัดของเสียจากกระบวนการผลิต ต่อเนื่องไปถึงการขนส่งที่จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในมิติสังคม มี​การจ้างงานและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี”​

 

ประเทศไทย หนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำคัญของไบเออร์สด๊อรฟ เพราะเป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกยุโรป โดยโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และเป็นฐานการส่งออกหลักในการทำตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่ไบเออร์สด๊อรฟให้ความสำคัญ และมีอัตราการเติบโตที่ดีแห่งหนึ่ง ปัจจุบัน​มีการผลิตผลิตภัณฑ์โดยรวมต่อปีที่ราว 300 ล้านชิ้น ซึ่งการผลิตกว่า 60% เป็นกลุ่มโรลออน ดังนั้น ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนผ่านสู่ Sustainability ของประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้สามารถ Achieve เป้าหมายที่ทาง Global ตั้งไว้ได้

ทั้งนี้ ฐานการผลิตของไบเออร์สด๊อรฟ  รวมทั้งในประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ 100% แล้ว ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังสามารถจัดการของเสียได้ตามมาตรฐาน Zero Waste Landfill มาตั้งแต่ปี 2016 รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 43% จากการใช้นวัตกรรมพลังงานลูกผสมอย่าง Mobile Energy เทียบกับข้อมูลฐานด้านพลังงาน (baseline) ในปี 2018  ซึ่งภารกิจสำคัญจากนี้คือ การพิชิตเป้าหมายเดียวกับที่ทางโกลบอลตั้งไว้ คือ ​การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานลง 30% ภายในปี 2025 และเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030

ด้าน คุณสุเรขา วันเพ็ญ Production Center Director บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) กล่าวถึงแนวทางที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ตามกรอบเวลาเดียวกับที่ทางบริษัทแม่วางไว้ นอกจากกรอบใหญ่ C.A.R.E.+ ยังวางทิศทางในการขับเคลื่อนของประเทศไทยเอง เพื่อสามารถโฟกัสการเพิ่มประสิทธิภาพในแต่ละมิติได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งในมิติของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การพัฒนาคน และการดูแลสังคมโดยรอบโรงงาน

โดยในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ได้ทำการลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตให้มากที่สุด อาทิ ลดการใช้แก้วซึ่งถือเป็นวัสดุหลักมากกว่า 60% ของการผลิตภาพรวมในโรงงาน ซึ่งลดไปได้กว่า 98 ตัน เทียบเท่ากับน้ำหนักช้าง 20 ตัว หรือแก้วที่ลดได้สามารถนำมาผลิตโรลออนขวดใหม่ได้หลายล้านขวดเลยทีเดียว เช่นเดียวกับกระดาษที่ลดการใช้ลงได้ 93 ตัน รวมทั้งเลือกใช้กระดาษจากป่าปลูก ขณะที่พลาสติกลดลลงไปกว่า  57 ตัน ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการผลิตจะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดไบโอพลาสติก ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆ

ขณะที่ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิต 40% ภายในปีหน้า ขณะที่เดียวกันต้องการลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตให้น้อยลง 25% จากปีก่อนหน้า จากที่เคยใช้สูงสุดกว่า 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร และค่อยๆ ทยอยลดปริมาณการใช้ลง โดยได้ตั้งเป้าหมายให้เหลือการใช้น้ำที่ราว 1.3 แสนลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

“ที่โรงงานไบเออร์สด๊อรฟ ในประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับพันธกิจของบริษัทและมุ่งมั่นในการปรับส่วนที่เราสามารถค่อย ๆ ทำได้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เช่น กระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนฟุ๊ตพริ้นท์ ทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีการหมุนเวียนการใช้พลังงาน การบำบัดน้ำเสีย ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ ด้านพนักงานเราก็มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้และเชิญชวนร่วมกิจกรรมที่จะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างโครงการคัดแยกขยะ การปลูกป่า และการประกวดโครงงานรักษ์โลกต่าง ๆ อีกด้วย” คุณสุเรขา กล่าว

กว่าทศวรรษนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ไบเออร์สด๊อรฟ ได้ทำโครงการและกิจกรรม CSR แบบบูรณาการภายใต้กลยุทธ์ C.A.R.E.+ (Care Beyond Skin) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายโครงการถือเป็นจุดเริ่มต้นและได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีไม่ว่าจะเป็น การใช้พลังงานทดแทน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและผืนป่าในแหล่งวัตถุดิบ  โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาให้กับสตรีและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบและการผลิตทั่วโลก ล่าสุดกับโครงการปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียนที่ยากไร้ 11 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเสริมสร้างทักษะและเรียนรู้ตลอดชีวิต  นอกจากนี้ยังได้มีการบริจาคเงินกว่า 50 ล้านยูโรและสิ่งของจำเป็นทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือองค์กรด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย

ด้าน คุณสเตฟานี กล่าวทิ้งท้ายว่า  “แม้ยอดขายจะมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปีที่ราว 5% (ในเชิงปริมาณ) ขณะที่ประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานจะไม่ได้ปรับสัดส่วนตามยอดขายที่เติบโต แต่โรงงานจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีหรือโซลูชันที่ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการลดพลังงานได้มากขึ้น ซึ่งอาจต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มเติม ​แต่บริษัทถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน และลดผลกระทบต่อโลกได้ รวมทั้งจะพยายามไม่ผลักภาระจากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภค”​ 

Stay Connected
Latest News