‘Sustainability’ มากกว่าเทรนด์ แต่คือพื้นฐานของทุกการขับเคลื่อนในปี 2023 เมื่อถนนทุกสายต่างมุ่งสู่ ‘ความยั่งยืน’

ประเด็นที่เกี่ยวกับกับ ‘ความยั่งยืน’ ยังคงเป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงในทุกๆ การคาดการณ์สิ่งที่จะมาแรงในปี 2566 ที่กำลังจะถึงนี้  ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เทคโนโลยี เทรนด์การตลาด เทรนด์ผู้บริโภค หรือ Global Trend ต่างๆ ที่มีการสำรวจมาตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา

ซึ่งในผลการสำรวจจากทุกสำนัก จะต้องมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารทางเลือก การจัดการความสูญเสียของอาหาร หรือ Food Loss / Food Waste การจัดการในระบบซัพพลายเชน การขนส่ง พลังงานทางเลือก หรือเรื่องของการมีธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนประกอบเกี่ยวกับการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน  หรือ ESG แทบทั้งสิ้น

พื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยี

เริ่มด้วย การ์ทเนอร์ อิงค์ (Gartner Inc.) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาแก่องค์ธุรกิจชั้นนำระดับโลก ที่ออกมาฉายภาพ 10 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงที่ภาคธุรกิจจะต้องจับตาในปี 2566 พร้อมระบุว่า ​​Sustainable by Default หรือ  ความยั่งยืนเป็นพื้นฐาน จึงเป็นเป้าหมายในการนำเทคโนโลยียั่งยืนมาใช้ เพื่อมุ่งหวังให้นำมาซึ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize) การปรับขยาย (Scale) และการเป็นผู้ริเริ่ม (Pioneer)

โดยสิ่งสำคัญจากนี้ การส่งมอบเพียงแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความคาดหวัง​ รวมทั้งกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (หรือ ESG)  เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ซึ่งในทุกการลงทุนฯ​ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต

ทำให้ประเด็นเรื่อง ความยั่งยืน หรือ Sustainability จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการครอบคลุมเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ทั้งหมดในปี 2566  ซึ่งจากสำรวจของการ์ทเนอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารไอทีมองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมในขณะนี้มีความสำคัญสูงสุด ติดสามอันดับแรกสำหรับนักลงทุน รองจากเรื่องของผลกำไรและรายได้ นั่นหมายความว่าผู้บริหารต้องลงทุนมากขึ้นกับนวัตกรรมโซลูชันที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับตอบโจทย์ความต้องการด้าน ESG และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ซึ่งองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานด้านเทคโนโลยีที่ยั่งยืนใหม่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและวัสดุอุปกรณ์ของบริการไอที ที่จะช่วยทำให้องค์กรมีความยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ ความสามารถในการตรวจสอบแบบย้อนกลับ การวิเคราะห์ พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเอไอ และปรับใช้โซลูชันไอทีเพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่วางแผนไว้

พื้นฐานการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ด้าน บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ออกมาฉายภาพแนวโน้มการพัฒนาสินค้าและบริการในปี 2566 โดยระบุว่า ​เรื่องของการประหยัดพลังงาน คุณภาพสิ่งแวดล้อม และปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม living well-being กลายเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นมาตรฐานใหม่ หรือ New Standard​ ที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยคำนึงถึง ซึ่งทุกเรื่องต่างเป็น 1 ใน 17 ข้อ ของการขับเคลื่อนความยั่งยืนของ UN หรือ UN SDGs ทั้งสิ้น

ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์​ความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลง พร้อมปรับกลยุทธ์ การพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึง 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ด้านพลังงาน ที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงานมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการวางผังอาคาร หรือ Passive Design รวมทั้ง Active Design ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในบ้าน รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน การติดตั้ง EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง Energy Monitoring สำหรับเช็กการใช้พลังงานภายในบ้าน เป็นต้น

2. ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานวิจัยของ Baramizi Lab พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยชอบที่จะอยู่กับธรรมชาติถึง 85.2% จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่สีเขียวจะสามารถตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อได้เพิ่มขึ้น   รวมทั้งการพัฒนาโครงการโดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  และ 3. ด้านสุขภาพ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึง​การเลือกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของสุขอนามัยที่ดีเช่นกัน เช่น การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก ลดการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม​ หรือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชน เพื่อช่วยส่งเสริมรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง​

LWS ยังระบุว่า การประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย​ ไม่ได้เป็นแนวโน้มเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี2566 เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับ ทั้งการพัฒนาโรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ โกดังสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่นำมาตรฐานการก่อสร้างและการบริหารจัดการโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักข้างต้น โดยการนำเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นดัชนีชี้วัดในการก่อสร้างและการปรับปรุงอาคาร เช่น มาตรฐานอาคารของ Leadership in Energy and Environment Design หรือ LEED , WELL Building Standard คือมาตรฐานทางสุขภาวะระดับสากลที่ประเมินอาคาร อีกด้วย

People planet Profit ศูนย์กลางขับเคลื่อนการตลาด

ขณะที่ผลสำรวจ ​Marketing Trends : 2023 Way Forwards ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) ซึ่งได้สำรวจเทรนด์และความคิดเห็น ในกลุ่ม MAT CMO Council  ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาด และ คณาจารย์ในภาควิชาที่เกี่ยวข้อง

โดยมุมหนึ่งที่น่าสนใจของการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ทั้ง 3P  ได้แก่ People (คน) Planet (โลกและสิ่งแวดล้อม) และ Profit (ผลกำไร) คือ สิ่งที่นักการตลาดในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘คน’ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง สังคม ชุมชน และ ลูกค้า ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากที่สุด​ และสามารถสร้างให้เกิดความรักในแบรนด์ได้อย่างแท้จริง  ตามมาด้วย ‘โลก’  และต่อด้วย ‘ผลกำไร’ ​หากองค์กรนั้นๆ มีทั้งความ เข้าใจและใส่ใจ ผลที่จะสะท้อนกลับมา ย่อมเป็นผลเชิงบวกที่จะนำไปสู่ผลบวกทางธุรกิจอย่างแน่นอน

​รวมท้ังในภาคของ Global ตามข้อมูลจาก DMNews ที่นำเสนอ 5 Global Trends ที่จะส่งผลกระทบต่อการตลาดดิจิทัลในปี 2566  ซึ่งประเด็น Sustainability หรือความยั่งยืนนั้นเป็นเทรนด์สำคัญเช่นกัน โดยระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องของความยั่งยืนเป็นสิ่งที่องค์กรต่างหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจาก ผู้บริโภครุ่นใหม่เพิ่มสัดส่วนมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักในตลาด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความตระหนักในการดูแลโลก โดยสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากแบรนด์และภาคธุรกิจมากกว่าแค่การให้คำมั่นสัญญา แบบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องการให้เห็นการขับเคลื่อน หรือ Action อย่างจริงจัง และคาดว่าในปี 2566 นี้ จะเห็นการตื่นตัวของธุรกิจ โดยหนึ่งในวิธีที่ชัดเจนที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและดีต่อโลกยิ่งขึ้น เนื่องจาก บรรจุภัณฑ์ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอยู่แล้ว

อีกหนึ่งเทรนด์ในโผของ DMNews ​คือ การสนับสนุนวัตถุดิบที่มีแหล่งผลิตภายในประเทศ หรือของท้องถิ่น (Source Locally and Domestically) ที่แม้ว่าในเนื้อหาอาจจะโฟกัสไปที่การบริหารประสบการณ์ลูกค้าของลูกค้า E-commerce เป็นหลัก แต่ในอีกมิติหนึ่ง ซัพพลายเชน คือ การบริหารจัดการการขนส่ง หากลดการเดินทางด้วยการหันมาใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นหรือภายในประเทศ ก็จะช่วยลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมรายได้ให้เกิดขึ้นภายในชุมชนและท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง ตามแนวทางในการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เห็นได้ว่าทุกโผ ทุกผลการสำรวจ จะต้องมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความยั่งยืนอยู่ด้วยทั้งสิ้น หากจะพูดว่าเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงของปี 2566 ก็จะไม่ผิดนัก แต่หากจะให้ถูกต้องที่สุด น่าจะต้องบอกว่า เรื่องของ Sustainability หรือการขับเคลื่อนบนพื้นฐานของความยั่งยืนนี้ น่าจะ Beyond ความเป็นเทรนด์ ที่อาจจะแค่ร้อนแรงในช่วงเวลาหนึ่งแล้วไปในเวลาไม่นาน เพราะหลายๆ ครั้งที่เราจะได้ยินเสมอว่าการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืนนั้น ไม่ใช่แค่เทรนด์แต่ได้กลายเป็นบริบทของโลกใบใหม่ไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

source

Stay Connected
Latest News