บุญรอดฯ ผนึก ปตท. – ไออาร์พีซี พัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุหมุนเวียน ลดใช้ทรัพยากร ต่อยอดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Returnable Equipment) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการนำร่องรีไซเคิลพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างลังน้ำและโซดาขวดเปลี่ยน ผลิตจาก rPET และ rHDPE พาเลท (Pallet) ผลิตจาก rHDPE และกากมอลต์

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ความสำคัญ คือ การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “องค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”

ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในกลุ่มบริษัทบุญรอดฯ ทั้งหมด เช่น เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากผ้าที่ผลิตจากขวด PET การแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงการที่ทำกับชุมชนและสังคมอีกหลายโครงการ ล่าสุดได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นของไทยที่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นทั่วโลกอย่าง PIPATCHARA ดีไซน์กระเป๋ารุ่นพิเศษที่ผลิตจากผ้าที่ Upcycling มาจากขวดพลาสติก PET 100%

“ในแต่ละปี เรามีวัสดุเหลือจากระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก น่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับ บริษัทฯ ปตท. และ ไออาร์พีซี ในครั้งนี้ เราเชื่อว่า ด้วยความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของทั้งแต่ละบริษัทฯ จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่จากวัสดุในกระบวนการผลิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”​

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ยึดมั่นในพันธกิจรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ   เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

โดยส่วนหนึ่งได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดเป็นรูปธรรม มุ่งปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณของเสียตลอดกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. โดย PRISM (Petrochemical and Refining Integrated Synergy Management) แพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ผลักดันให้เกิดการผสานองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรจากทั้ง 3 หน่วยงาน นำวัสดุเหลือใช้ ในกระบวนการผลิตมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และเจตนารมย์องค์กรชั้นนำของไทย ที่จะจุดพลังและขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ดีให้แก่โลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ด้วยการใช้นวัตกรรมสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด โดยบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว ประเภทใช้ครั้งเดียวสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ผ่านผลิตภัณฑ์แบรนด์ “POLIMAXX” สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งในกลุ่มรีไซเคิลและพลาสติกที่มีพืชเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต (Bio-Based)

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG)

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมผลักดันการสร้างความสมดุลและความยั่งยืน หรือ ESG โดยตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2603 เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน

นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทไทยชั้นนำอย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ ปตท. และ ไออาร์พีซี ที่จับมือพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนดไว้ในปี 2608 ได้ต่อไป

Stay Connected
Latest News