‘เมื่อโลกอยู่ในยุค 5.0 แต่ระบบการศึกษาของไทยเพิ่งถึง 2.0’ ซีอีโอ CP แนะใช้ SI Model พัฒนาเด็กไทยให้ทันบริบทโลก พร้อมเปลี่ยน ‘ครู’ เป็น ‘โค้ช’

ซีอีโอ CP เสนอขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ยุค 5.0 ผ่าน​แนวคิด SI Model เพื่อก้าวให้​ทันบริบทโลก ต้องเรียนมากกว่าแค่ ‘สอบให้ผ่าน ทำการบ้านให้เสร็จ’ มาเป็นการเรียนรู้ เพื่อมุ่งใช้พัฒนาตัวเอง พร้อมเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ครู’ สู่ ‘โค้ช’ รวมทั้งมองว่า ‘คอมพิวเตอร์’ เครื่องมือเรียนรู้สำคัญที่เด็กไทยทุกคนควรต้องมี

คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดย คุณโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา ได้จัดโครงการสัมมนาเรื่อง “เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ประเทศ” เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและนำไปสู่การปรับกฎหมายคือการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญจาก กมธ.การศึกษา ร่วมอภิปรายนำเสนอมุมมองความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในฐานะที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ  และสนใจให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา

ทั้งนี้ ซีอีโอ ซีพี ได้เสนอให้กำหนดทิศทางขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ยุค 5.0 รองรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model)  โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี  และ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โดยมีคณะกรรมาธิการการศึกษา คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา คณะผู้บริหารการศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังกว่า 550 คน ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2  อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ  ทั้งนี้ถือเป็นการระดมความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 3 และจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทั่วทุกภูมิภาคเพื่อร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาการศึกษาให้ครอบคลุมในทุกมิติ

คุณโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาการศึกษาในตอนนี้เข้าขั้นวิกฤต จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับการศึกษาระดับโลก จึงเกิดการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้น โดยเล็งเห็นว่าการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้จะเป็นความมุ่งหวังของคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยที่จะกำหนดมาไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

ด้าน คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยปัจจุบันโลกก้าวสู่ยุค 5.0 แต่การศึกษาไทยยังอยู่ในระบบ 2.0  ทั้งนี้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ และจำเป็น​ต้องเปลี่ยน​การศึกษามาสู่ระบบ 5.0 ให้กันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี

กล่าวคือ กรอบความคิดต้องเปลี่ยนจากระบบ 2.0 ที่ว่า “สอบให้ผ่าน ทำการบ้านให้เสร็จ ทำรายงานให้ทัน ปิดเทอม”  มาสู่ 5.0 คือ “ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน  อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ”

นอกจากนี้ ​การเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยมาสู่ 5.0 ต้องกำหนดเข็มทิศอีกประการคือ การให้ความรัก ความมั่นคง และความมั่นใจกับเด็ก ครูจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็น “โค้ชที่ดี”  เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้  (Facilitator) ที่มีความเมตตา และโรงเรียนควรปรับระบบการสอนให้เป็น Learning Center เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง โดยเน้นย้ำว่า เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ทั้งโลก

พร้อมกันนี้ ซีอีโอ ซีพี ได้เสนอกระบวนการปฎิรูปการศึกษา ด้วยโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) หากกฎหมายทางการศึกษาฉบับใหม่นำ SI  Model ไปปรับใช้อาจจะทำให้สามารถเปลี่ยนระบบนิเวศของการศึกษาให้ทันยุคสมัยได้

โดย 5 เสาหลักของ SI Model ประกอบด้วย  1. Transparency ความโปร่งใส ทุกโรงเรียนต้องมีรายงาน มีสมุดพกดิจิทัล ต้องมีตัวชี้วัด KPI ของโรงเรียน 2. Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ต้องสร้างความเชื่อมโยงของโรงเรียนกับชุมชนและครอบครัวให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วง Primetime โดยให้ Incentive เพราะห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ สื่อ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม 3. Leadership &Talents สร้างผู้นำและครู/บุคลากรทางการศึกษาที่มีทักษะ 5.0 และเสนอว่าควรไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ และต้องสร้างครูให้เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ 4. Child Centric / Empowerment เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางให้อำนาจตัดสินใจ และ 5. Technology ควรมีการปรับสอนให้เกิดการประยุกต์เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

นอกจากนี้ จำเป็น​ต้องมีการปรับปรุงระบบนิเวศการศึกษาเร่งด่วนใน 3 ด้านสำคัญคือ 1. เด็กทุกคนควรต้องมีคอมพิวเตอร์สะอาด  2. ทุกโรงเรียนจะต้องมี Learning Center เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning ที่มีการผสมผสานความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย และ 3. ควรมีหลักสูตรภาษาคอมพิวเตอร์

 “กฎหมายทางการศึกษาต้องเน้นไปเรื่องของธรรมาภิบาล คุณธรรม ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ คนในระบบการศึกษาต้องปรับกรอบความคิดตามหลักมรรค 8 และแม้ว่าจะต้องพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยี มีการนำเอไอเข้ามาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นเนื้อเดียวกัน และจะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในแบบ PPP  ควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเป็น Learning Center พร้อมทั้งภาครัฐจำเป็นต้องมีทุนเทคสตาร์ทอัพในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ลูกหลานของเราเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสามารถปรับตัวได้” คุณศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ขับเคลื่อน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มองว่า ปัญหาของการศึกษาไทยในตอนนี้มี 3 เรื่องหลักคือ 1. เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น 2. มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาสูงมาก และ 3. ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับกฎหมายทางการศึกษามุ่งเน้นในการสร้างคนมาเพื่อพัฒนาประเทศได้

“โจทย์ใหม่ที่ท้าทายของระบบการศึกษาที่จากเดิมผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนเป็นการสอนการใช้ชีวิตที่มีทักษะทางสังคม ระบบการศึกษาจะต้องเปลี่ยนหน้าที่จากการให้ความรู้มาเป็นการให้ทักษะ โดยสิ่งจำเป็นในการพัฒนาระบบการศึกษาและถือเป็นหัวใจสำคัญคือการพัฒนาครู ดังนั้นกฎหมายทางการศึกษาจะต้องมี 4 เรื่องหลัก 1. ความชัดเจนในสิทธิของเด็ก ผู้ปกครอง ครอบครัวกับหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรทรัพยากรโดยคำนึงถึงความเสมอภาค 2. ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในกฎหมายจะต้องเขียนให้ชัดว่ารัฐจะให้สิทธิและแรงจูงใจอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการศึกษาและต้องมีการพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ 3. พัฒนาหลักสูตร พร้อมทั้งฝึกครู ผลิตครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 4. ปรับโครงสร้างการจัดการระบบการศึกษาและระบบการประเมิน” 

ขณะที่ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม  เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เปิดเผยว่า พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติไม่ว่าจะฉบับเก่าหรือใหม่ ควรยังต้องคงประเด็นเรื่องให้เด็กเป็นศูนย์กลางทางการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์การศึกษาต้องสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีความสุข โดยกุญแจสำคัญของร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ คือ การศึกษาต้อง “สร้างสมรรถนะ” ให้กับผู้เรียน โดยมองว่ายุค 5.0 เป็นโอกาสในการพัฒนาการศึกษาด้วยการใช้เทคโนโลยีและภาษาซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ  รวมไปถึงเด็กจำเป็นต้องมีทักษะในการแสวงหาความรู้อย่างเท่าทัน 

ดังนั้น การพลิกโฉมประเทศไทยต้องปฏิรูปการศึกษาที่ใน 4 สมรรถนะสำคัญคือ เด็กต้องเรียนเพื่อรู้ ต้องเรียนและเอาไปทำ ปรับใช้ให้เป็น ต้องสอนให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้  และต้องสอนให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความสุข พร้อมทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม สิ่งจำเป็นมากที่สุดที่จะทำให้เกิดสมรรถนะได้ คือต้องพัฒนาครูในการสร้างสมรรถนะเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Stay Connected
Latest News