รายงานปริมาณการเกิดขยะของเกาหลีใต้ ในปี 2560 อยู่ที่ราว 1.02 กิโลกรัม/ คน/วัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปริมาณในปี 2534 พร้อมทั้งยังมีอัตราการรีไซเคิลขยะที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 86%
หนึ่งใน Role Model ประเทศต้นแบบการลดขยะ
เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการมีระบบการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นเวลานาน มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะทั่วไป และขยะเศษอาหารตามปริมาณการทิ้ง
นอกจากนี้ยังใช้ระบบ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือระบบความรับผิดชอบต่อการจัดการผลิตภัณฑ์เพื่อขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการจัดการผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อลดการเกิดขยะได้ทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
โดยต้องรับผิดชอบตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณขยะในขั้นตอนการผลิต การจัดเก็บและกำจัดผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน และผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ รวมถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับวิธีการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เพื่อลดปริมาณขยะและส่งเสริมการรีไซเคิลให้มากขึ้น
เกาหลีใต้ยังมีการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งอย่างเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มาตรการลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติกหรือแก้วกระดาษในร้านกาแฟ ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งยังมีการออกนโยบายใหม่ๆ เพื่อจัดการทรัพยากรเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ด้านภาคธุรกิจต่างๆ ที่ผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดขยะจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลขยะ รวมถึงต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล
เป้าหมายและมาตรการเกี่ยวกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่
เกาหลีใต้ประกาศใช้ ‘มาตรการจัดการการรีไซเคิลขยะแบบครบวงจร (Comprehensive Measures of Waste Recycling)’ ในปี 2561 ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การบริโภค การกำจัดขยะ การรวบรวมและคัดแยกขยะ จนถึงการรีไซเคิล โดยตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติกลง 50% และนำขยะพลาสติกมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ให้ได้ 70% ภายในปี 2573
จากรายงานในปี 2559 ขยะทั้งหมดในเกาหลีใต้ ได้รับการรีไซเคิล 84.8% ขณะที่ 6.2% ถูกนำไปเผาทำลาย และ 8.8% ถูกฝังกลบ
ซึ่งหากพิจารณาเชิงลึก จะพบว่าภาคครัวเรือน มีอัตราการรีไซเคิล 60% ซึ่งยังเป็นปริมาณที่ต่ำ เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการรีไซเคลขยะ 88.5% พร้อมทั้งพบว่า ปริมาณขยะทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงต้องมีมาตรการเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการเกิดขยะตลอดวงจรผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการหมุนเวียน ทรัพยากรผ่านการขับเคลื่อน แผนว่าด้วยการหมุนเวียนทรัพยากร ปี พ.ศ 2561- 2570 (The Basic Plan on Resource Circulation 2018-2027)
ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดเป้าหมายเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ระยะกลางถึงระยะยาวโดยวางวิสัยทัศน์ ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งระบบการหมุนเวียนทรัพยากรแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึง การบริโภค การจัดการ และการรีไซเคิล การลดการเกิดขยะ
พร้อมส่งเสริมการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณภาพสูง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะระดับชุมชน โดยบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมกำหนดบทบาทผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ส่วนปกครองท้องถิ่น ผู้ผลิต และผู้บริโภค เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภค ให้สามารถลดขยะในครัวเรือน รวมถึงพลาสติก รวมท้ังการหาแนวทางต่างๆ ในการกำจัดขยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการเกิดขยะพลาสติก 50% และยกระดับอัตราการรีไซเคิลพลาสติกเป็น 70% ภายในปี2573

สำหรับรูปแบบการจัดการขยะของเกาหลีใต้ในแต่ละขั้นตอน อาทิ
ด้านการผลิต (Production)
มีการประเมินความสามารถในการรีไซเคิลของวัสดุบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด รวมถึงขวดพลาสติก และจะนำผลการประเมินมาใช้เป็นเกณฑ์เพื่อให้ผู้ผลิตชำระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการรีไซเคิลในอัตราที่แตกต่างกันไป ซึ่งพบว่าในปี 2563 ขวดพลาสติกชนิดมีสี ถูกแทนที่ด้วยขวดพลาสติกใสเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิลขยะ
ด้านการบริโภค (Consumption)
การกำหนดมาตรฐานการรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากภาคธุรกิจมีการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งสูงขึ้น (Single-use) จึง ตั้งเป้าหมายในปี 2565 ให้ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกและแก้วพลาสติกลง 35% โดยเน้นการใช้ถุงผ้า (Eco-Bag) และแก้วส่วนตัว (Personal Cup) มากขึ้น
ด้านการจัดการขยะ (Disposal)
มีการจัดการขยะอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้และปฎิบัติตามวิธีการแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการจัดทำคู่มือและแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือให้สามารถใช้งานง่าย เสริมสร้างศักยภาพให้กับ องค์กรส่วนท้องถิ่นและชุมชนมนการจัดการขยะในท้องถิ่นด้วย

ด้านการรีไซเคิล (Recycling)
ใช้มาตรฐาน Extended Producer Responsibility (EPR) หรือ ระบบความรับผิดชอบต่อการจัดการผลิตภัณฑ์เพื่อขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการรีไซเคิลเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดรีไซเคิล และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงและขยะอัดแท่ง (Solid Refused Feul: SRF) เป็นต้น
การขับเคลื่อนอย่างจริงจังและบูรณาการในทุกภาคส่วน ทำให้ประสิทธิภาพในการลดขยะ และรีไซเคิลของเกาหลีใต้ดีขึ้น พร้อมทั้งสร้างให้เกิด เทรนด์ในการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระจายตัวไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและแบรนด์ชั้นนำต่างๆ รวมทั้งการพัฒนารูปแบบหรือโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ Zero Waste ไม่ว่าจะเป็น Zero Waste Store, Zero Waste Market โดยเฉพาะร้านรีฟิลต่างๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ด้วยการมีจุดเติมสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถนำขวด หรือบรรจุภัณฑ์มาเอง เพื่อเติมสินค้าต่างๆ ทั้งน้ำยาทำความสะอาด สบู่ แชมพู ข้าวสาร ธัญพืช เครื่องปรุงรส หรือน้ำมัน รวมไปถึงแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำ ที่ต้องการตอบโจทย์ประสบการณ์ที่คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับ เทรนด์บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ที่เติบโตและได้รับการส่งเสริมอย่างแพร่หลายมากเช่นกัน ทั้งการลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่เกินความจำเป็นลง การเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ หรือพลาสติกชีวภาพ รวมทั้งการเลือกหมึกพิมพ์จากธรรมชาติ หรือแม้แต่การออกแบบดีไซน์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดเครื่องดื่ม การใช้เทปปิดกล่องที่ทำมาจากกระดาษแทนพลาสติก รวมทั้งหีบห่อที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่
นอกจากนี้ ยังมี การพัฒนานวัตกรรมการออกแบบวัสดุรีไซเคิล สำหรับสินค้าแฟชั่น ที่ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุรีไซเคิล และการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยมีหลายแบรนด์ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากวัสดุเหลือใช้ (Recycling and Upcycling) จากแบรนด์ชั้นนำที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นการนำของค้างสต๊อก หรือเศษวัสดุมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงทำให้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)