Top StoriesTrending

กลุ่มเซ็นทรัล เร่งเป้า ‘​ขยะฝังกลบเป็นศูนย์’ พร้อมผนึกพันธมิตร สร้าง ‘Zero Waste Ecosystem’ วางระบบ ‘ลด -แยก- จัดการ’ ​​ครบวงจร เล็งขยายโมเดลทั่วประเทศ​

กลุ่มเซ็นทรัล และ บริษัทในเครือ ร่วมมือพันธมิตร สร้างระบบ Zero Waste ครบวงจร ขับเคลื่อน กระบวนการจัดการขยะให้เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด

ในยุคที่โลกต้องเผชิญกับปัญหาขยะล้นเมืองและวิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ‘ขยะ’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นหนึ่งในวิกฤติที่กระทบต่อ คุณภาพชีวิต และความสมดุลของระบบนิเวศอย่างลึกซึ้ง

ขยะจำนวนมหาศาลยังคงถูกส่งไปฝังกลบในแต่ละวัน โดยมีเพียงส่วนน้อยที่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างแท้จริง หากไม่เร่งแก้ไขตั้งแต่วันนี้ ปัญหานี้จะยิ่งสะสมและยากต่อการเยียวยาในอนาคต

กลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคและชุมชนทั่วประเทศ เดินหน้าสานต่อพันธกิจด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน คู่ค้า ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ภายใต้แคมเปญ ‘Love the Earth : Zero Waste รักโลกต้องเริ่มเลย’

โดยมุ่งพัฒนา ‘โมเดล Zero Waste แบบครบวงจร’ ​เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพในการ ลดแยกจัดการขยะ และส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า พร้อมประกาศความเป็นผู้นำองค์กรค้าปลีกที่มีระบบจัดการขยะครบวงจร ผลักดันภาคธุรกิจเข้าสู่แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

มุ่งสร้าง Zero Waste Ecosystem ทั่วประเทศ

โมเดล Zero Waste แบบครบวงจร​ เริ่มต้นนำร่องที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นแห่งแรก โดยมุ่งลดตั้งแต่ต้นทาง ผ่านการสร้างศูนย์คัดแยกขยะระดับมาตรฐานสากล และร่วมมือกับหน่วยงานที่รับจัดการขยะ เพื่อนำขยะไปจัดการอย่างถูกวิธี​ลดปริมาณ​ขยะไปสู่หลุมฝังกลบ

ซึ่ง​เฟสแรกนี้ มีร้านค้าภายในศูนย์เข้าร่วมแล้วมากกว่า 200 ร้านค้า ครอบคลุมหลากหลายหมวดหมู่ อาทิ แฟชั่น อาหาร และเครื่องดื่ม โดยกลุ่มเซ็นทรัลจะ​มอบ ตราสัญลักษณ์ ‘Love the Earth: Zero Waste’ เพื่อเชิดชูร้านค้าที่ร่วมปฏิบัติตามแนวทางของโครงการอย่างจริงจัง  และในเฟสถัดไป กลุ่มเซ็นทรัลจะขยายผลโครงการสู่ ศูนย์การค้าทั่วประเทศ

คุณพิชัย  จิราธิวัฒน์  กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล มุ่งสร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คู่ค้า ลูกค้า และประชาชนทั่วไป เพื่อ​มีส่วนร่วม​สร้างระบบนิเวศที่​ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อน Zero Waste Ecosystem ​ไปด้วยกัน เพราะความยั่งยืนนับเป็นภารกิจร่วมกันของทุกคนในสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง

ทั้งนี้ ปี 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล สามารถลด​ขยะสู่หลุมฝังกลบได้​ 43,600 ตัน พร้อมให้ความรู้และขยายโมเดลส่งเสริมการคัดแยกขยะไปสู่ 190 ชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ เพื่อมุ่งขับเคลื่อนสู่ เป้าหมาย ลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบให้เหลือ 30% ภายในปี 2573 และเดินหน้าสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2593 ซึ่งการแยกขยะอย่างถูกวิธี ​นับเป็จุดเริ่ม​ต้นสำคัญเพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในที่สุด

 “หากทุกคนเห็นคุณค่าของการจัดการขยะอย่างถูกต้องและเข้ามามีส่วนร่วมในแคมเปญ ‘Love The Earth: Zero Waste รักโลกต้องเริ่มเลย’ จะเป็นการสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงที่แผ่ขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม และในฐานะโมเดลต้นแบบ   เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับร้านค้าทุกร้านในศูนย์การค้า อาทิ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป, บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด, บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด และพันธมิตรอื่น ๆ ที่ไม่เพียงยกระดับวิธีการทำงาน แต่ยังช่วยสร้างความตระหนักให้กับลูกค้า การที่ทุกคนมีจิตสำนึกร่วมกันลงมือทำนี้จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ”

วางระบบ ‘ลด -แยก- จัดการขยะ’ ​3 แนวทางสู่เป้าหมาย

สำหรับแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย Zero Waste​ to Landfill ทางกลุ่มเซ็นทรัลออกแบบวิธีดำเนินการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และลงมือทำจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังสามารถลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่าน 3 ขั้นตอน คือ ลด แยก จัดการ ​ ได้แก่

1.  ลดตั้งแต่เลือก :   ปฏิเสธการรับสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือก่อให้เกิดขยะและหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น  ผ่านการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น

– โครงการ Say No To Plastic Bags  – ตั้งแต่ปี 2561 กลุ่มเซ็นทรัล ประกาศ ‘ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก’ Say No to Plastic Bag โดยทุกกลุ่มธุรกิจในเครือ ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อ​ช่วยลดการเกิดขยะ พร้อมเชิญชวนลูกค้าปฏิเสธถุงพลาสติก และต่อยอดสู่กิจกรรม Bring Your Own Bag เพื่อส่งเสริมการใช้ซ้ำ หันมาใช้ถุงผ้า เพื่อลดขยะ สร้างพฤติกรรมรักษ์โลกอย่างยั่งยืน ซึ่งรณรงค์ในห้างทั่วประเทศและได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม  ซึ่งข้อมูล ปี 2567 ​มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 3 ล้านราย คิดเป็น 12 ล้านครั้งของการปฏิเสธถุง พร้อมมอบคะแนน The 1 รวมกว่า 130 ล้านคะแนน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มเซ็นทรัลในการส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า

– CRG Say No to Plastic – รักษ์โลก เลิกพลาสติก – เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกในธุรกิจอาหาร โดยเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ไม่มีสารตกค้าง และสามารถกำจัดได้โดยการฝังกลบภายในระยะเวลา 180 วัน ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกรวม​​ 16.5 ล้านชิ้น

– โครงการจัดการอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) – บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, โก โฮลเซลล์, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน), และบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด  ร่วมมือกับภาคี มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และมูลนิธิ วีวี แชร์ (VV Share Foundation)  ทำโครงการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 กว่า 200 สาขา เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร  ส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีคุณภาพให้แก่ชุมชนขาดแคลนและกลุ่มเปราะบางกว่า 807 ชุมชน ลดปริมาณขยะอาหารไปสู่หลุมฝังกลบน้ำหนักรวมกว่า 568 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,438 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)

– ไทวัสดุ ลดใช้บรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง – ศูนย์กระจายสินค้า ไทวัสดุ กลุ่มธุรกิจฮาร์ดไลน์ ร่วมกับ บริษัท ไอสเทรด พัฒนาตาข่ายสำหรับคลุมสินค้า และ Extra Roll Cage เพื่อลดการใช้ฟิล์มห่อหุ้มพลาสติก และลดการใช้พาเลท โดยสามารถลดการใช้ฟิล์มหุ้มได้​ 10.54 ตัน รวมทั้งลดพื้นที่สำหรับขนส่ง​​ 2 เท่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการขนส่ง  20.4 ล้านบาทต่อปี

2. ‘แยกขยะที่ต้นทาง – คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการเปื้อนของขยะที่ยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัดน้อยลง อาทิ

– โครงการขวดเปล่าไม่สูญเปล่า – ผ่านตู้ Better Bottle ที่ตระหนักถึงปัญหาขยะ และปลูกจิตสำนึกในการบริจาคขวดน้ำพลาสติก PET เพื่อนำขวดพลาสติกจากโครงการไปรีไซเคิล เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผ้าห่ม และเสื้อกันหนาว ส่งต่อให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวพื้นที่ทุรกันดารอีกด้วย

– ปลา P.O.P. ‘Plastic Only Please!’ –  สร้างความตระหนักรู้และให้ความสำคัญการจัดการขยะพลาสติก โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราทั้ง 28 แห่ง ​สร้างรูปปั้นปลา P.O.P.  สัญลักษณ์การแยกขยะพลาสติก โดยปี 2567 สามารถนำขยะพลาสติก​ 743.62 กิโลกรัม เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ​ลดปริมาณขยะ​​​ฝังกลบ

– กิจกรรม ทิ้งดี โร้ดโชว์ กับ Recycle Day – เปลี่ยนขยะไร้ค่าให้มีมูลค่า ร่วมกับ​ Recycle Day  รณรงค์ และสร้างพฤติกรรม​คัดแยกขยะจากบ้าน และมาส่งมอบเพื่อแลกรับคะแนนและของรางวัล เน้นกลุ่มเป้าหมายจากผู้เช่าอาคารสำนักงาน​เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิศเซส ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยล่าสุดมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม​ 836 ราย เพิ่มขึ้น​ 35% จากปีก่อนหน้า รับขยะรีไซเคิล​ 7.98 กิโลกรัม ลดก๊าซเรือนกระจก 27,055.33 กิโลกรัม CO2e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้  2,842 ต้น ​

พร้อมส่งเสริมมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 6 Actions for ONE Planet ผ่านแคมเปญ One Recycling Drop a Month ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้พนักงานและ​ผู้เช่า​มีส่วนร่วม​แยกขยะรีไซเคิล เดือนละ 1 ครั้ง ทุกพุธ-พฤหัสบดี สุดท้ายของเดือน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับคะแนน The 1 Point ผ่าน Application Central X ซึ่ง​ปี 2567 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2,245 คน คัดแยกขยะได้ 49.689 ตัน ส่วนปี 2658  ถึง​เดือนพฤษภาคม มีผู้เข้าร่วม​ 2,820 คน คัดแยกขยะได้ 39.94 ตัน

3. ‘จัดการ อย่างถูกวิธี –  รวบรวมขยะที่แบ่งตามประเภทโดยใช้สัญลักษณ์ เช่น สีถุง เชือก ริบบิ้น เป็นต้น ในห้องพักขยะ เพื่อให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญรับไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีภารกิจ เช่น

– การปรับปรุงห้องพักขยะ เพื่อคัดแยกและรวบรวมขยะอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และเหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งขยะจากลูกค้า พนักงานออฟฟิศ ผู้ประกอบการร้านค้า หรือร้านอาหาร โดยมีการจัดการอย่างเคร่งครัดตามประเภทของขยะ เพื่อ​นำไปใช้ประโยชน์หรือเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งได้ยกระดับห้องพักขยะในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เกี่ยวข้อง

– ติดตั้ง Recycle Station ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์​ ชั้น B1 ซึ่งเป็นจุดรับขยะแยกประเภทแบบไดรฟ์ทรู ที่มีระบบการจัดการอย่างถูกวิธี ด้วยความร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตร เพื่อให้ขยะทุกชิ้นถูกส่งต่อสู่ปลายทางที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะ นำมาส่งมอบ ณ จุดรับ​​ ​ร่วมกับ Recycle Day สร้างแรงจูงใจให้เกิดการคัดแยกขยะ สะสมคะแนนแลกของรางวัล เปิดรับขยะที่คัดแยกแล้วทั้งจากลูกค้าที่คัดแยกขยะจากที่บ้าน และขยะที่แยกจากร้านค้าในพื้นที่  โดยหลังเริ่ม​​สาขาแรกในปี 2564 ​ปัจจุบัน​จัดตั้งแล้ว 10 สาขา ได้แก่ ​อีสต์วิลล์ ​ศรีราชา ​อยุธยา ​​ระยอง ​ลาดพร้าว เวสต์วิลล์ ​​นครสวรรค์​ สมุย เชียงใหม่ และ​เซ็นทรัลเวิลด์ โดยปี 2567 คัดแยกขยะรีไซเคิล  801.31 ตัน ​ลด​คาร์บอนไดออกไซด์ 3,471 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 365,368 ต้น และมีจำนวนสมาชิก 3,550 คน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร ตั้งจุดรับขยะกำพร้า หรือขยะเชื้อเพลิง (RDF) โดยเป็นพาร์ทเนอร์กับ N15 Technology ​ผู้ผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงขยะ RDF จากขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย นำมาผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จนได้เชื้อเพลิง​ RDF ที่มีคุณภาพ ​จำหน่ายให้​กลุ่มลูกค้าหลัก​ คือ กลุ่มโรงปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โดย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ จะจัดตั้งจุดรับขยะกำพร้าสัญจร ไตรมาสละครั้ง ปี 2567 รับขยะทั้งสิ้น 11,850 กิโลกรัม มีรถเข้าร่วมกิจกรรม 806 คัน รวม​ทั้ง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชา จัดโครงการ ‘ขยะซาเล้งเมินส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน’ รับขยะกำพร้า (RDF) รวม 5,490 กิโลกรัม

– ผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)  นำขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหารมาเลี้ยงเชื้อในเครื่องย่อยขยะอาหาร เปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นก๊าซชีวภาพ โดย​นำพลังงานที่ได้ไปใช้ในห้องครัวของห้องอาหารพนักงาน ปัจจุบัน​ติดตั้ง 3 โรงแรม คือ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ มารีส รีสอร์ทจอมเทียน พัทยา, โรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย และโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์บีชรีสอร์ท ภูเก็ต สามารถผลิตก๊าซชีวภาพ​ 7,87 กิโลวัตต์ชั่วโมง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ​3,024 กิโลกรัมCO2e  นอกจากนี้ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลล่า หัวหิน ยัง​มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่ผลิตจากเศษไม้ เพื่อนำมาใช้กับเตาอบพิซซ่าอีกด้วย

กลุ่มเซ็นทรัล เชื่อมั่นว่าการเดินหน้าขับเคลื่อน Zero Waste อย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของภาครัฐ เอกชน พันธมิตรทางธุรกิจ และประชาชนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพราะทุกขยะที่จัดการอย่างถูกวิธี คือก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ดีกว่าของโลกใบนี้