เจ้ากระทรวงสิ่งแวดล้อมยอมรับ การแก้ปัญหา Single-use Plastic ในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ

เสียงจากผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ต่ออุปสรรคใหญ่ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรณรงค์ลดการใช้ Single-Use Plastic ยังไม่ประสบความสำเร็จ คนส่วนใหญ่มีมายด์เซ็ตแบบ NIMBY รู้ว่าดี แต่ขอเอาง่าย สะดวกไว้ก่อน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี ​โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดขึ้นเมื่อ 2 มิ.ย.  2565 เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงมือทำเพื่อปกป้องโลก ​ภายใต้แนวคิด​ Only One Earth : เพราะโลกมีเพียงใบเดียว ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา ​

โดย รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ​ ยังได้ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “Only One Earth : ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา” พร้อมกล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบาย​เพื่อร่วมแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะการออกแคมเปญ Everyday to Say No Songle-use Plastic Bag ที่เริ่มประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดปรากฏการณ์ผ่านสังคมออนไลน์  มีการแชร์ภาพคนนำภาชนะต่างๆ ไปใส่ของที่ซื้อในร้านสะดวกซื้อ​ และยังมีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นมากมายกลับมาที่กระทรวงฯ ซึ่งจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การเริ่มต้นคิดแคมเปญและรูปแบบการขับเคลื่อน หรือการออกกฏห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศไทย 100%  หรือแม้แต่การรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนที่ต้องการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพราะส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้ชีวิตเป็นสำคัญ

“ต้องยอมรับว่าจนถึงปัจจุบันนี้การขับเคลื่อนโครงการยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีความเคลื่อนไหวหรือพัฒนาการอย่างมีนัยยะสำคัญ​ หลังจากเริ่มออกแคมเปญเมื่อต้นปี 2563 เราสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงไปได้หลายพันล้านชิ้น คิดเป็นปริมาณหลายร้อยตัน ถ้าเทียบเป็นพื้นที่ก็เท่ากับเราเอาขยะพลาสติกไปถมในสวนลุมพินีได้ 2 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนขยะที่ลงลง​ แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็ชะงักลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19. ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยได้มากขึ้น เรามีเทคโนโลยี Upcycling ​ที่สามารถนำขยะพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามกระตุ้นและทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ​แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก”​

ทั้งนี้ หากจะแก้ปัญหาด้านส่ิงแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องตัดคำว่าสะดวกออกไปก่อน แต่ด้วยมายด์เซ็ตและพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่จะมีแนวคิดที่เรียกว่า NIMBY : Not in my backyard ​เช่น เมื่อเราถามพี่น้องประชาชนว่า อยากได้โรงงานไฟฟ้าจากขยะหรือไม่ อยากจะกำจัดขยะให้หมดไป หรืออยากใช้ไฟฟ้าฟรีหรือไม่ แน่นอนว่าทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยาก” แต่พอถามว่า จะตั้งโครงการเหล่านี้ที่ไหนดี ก็จะตอบไปในทิศทางเดียวกันอีกว่า  ที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่แถวบริเวณบ้านตัวเอง หรือช่วงปลายปี 2562 ทุกคนสะเทือนใจกับการเสียชีวิตของน้องมาเรียม ที่พบพลาสติกอยู่ในระบบลำไส้ถึง 8 ชิ้น หลายคนก็เริ่มตระหนักและรับรู้ถึงเรื่องของปัญหาพลาสติกและบางส่วนตั้งใจจะเลิกใช้พลาสติก แต่สุดท้ายแล้วก็ยังยึดความสะดวกตัวเองเป็นสำคัญ​

ดังนั้น การจะแก้ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้ ต้องอย่าสร้างเงื่อนไข โดยเฉพาะให้เลิกคำนึงถึงความสะดวกสบาย หรือความง่ายเป็นหลัก แต่ให้เดินหน้าทำสิ่งที่ต้องทำเลยทันที เพราะ​กระทรวงฯ เองไม่สามารถตบมือข้างเดียวได้  ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ช่วยกันขับเคลื่อน นโยบายต่างๆ ก็จะกลายเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือในแผ่นกระดาษ เพราะสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เราจึงต้องช่วยกันรักษาโลกที่มีเพียงใบเดียวนี้ไว้ ก่อนที่จะไม่มีโลกให้เราอยู่ โดยต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เริ่มที่ตัวเอง และรวมพลังกัน​ และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ภายในงานเสวนาทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อมยังได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามโลกอยู่ เช่น ​

– ตั้งแต่ปี 1950 2017 มีการผลิตพลาสติกประมาณ 9.2 พันล้านตัน โดยมีปริมาณถึง 7 พันล้านตันที่กลายเป็นขยะ

– ปริมาณขยะในทะเลทั้งหมด เป็นขยะพลาสติกถึง 85%

– จากงานวิจัยพบไมโครพลาสติกในปอด เลือด และอุจจาระของมนุษย์ รวมถึงในรกของทารกแรกเกิด

– ปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี

– ประชาชน 9 ใน 10 ของโลก ได้หายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษในระดับที่เกินขีดจำกัดขององค์การอนามัยโลก

Stay Connected
Latest News