เอบีม คอนซัลติ้ง เผย ‘จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ เข้าถึงคอนโดในกรุงเทพ-ปริมณฑลเพียง 3% แถมค่าบริการแพง

เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับการพัฒนาสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบว่า ความพร้อมและปัญหาเกี่ยวกับการติดตั้ง EV Charging  คือ หนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย

ทั้งนี้ การเติบโตของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย โดยเฉพาะ​ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (BMR) ยังมีปัญหาเป็นคอขวด ทำให้ส่งผลต่อการเติบโตและการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicles) ซึ่งมีทั้งปัญหาจากเรื่องของการพัฒนาตัวรถยนต์เอง รวมทั้งอุปสรรคจากสถานีชาร์จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของจำนวนจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ และค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงอยู่ ทำให้ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้ประหยัดกว่าการเติมน้ำมันของรถยนต์เครื่องสันดาปมากนัก ​

ประกอบกับ การขยายตัวของ EV Charging ที่ยังไม่สอดคล้องกับรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในเขต BMR มากนัก เพราะคนในเขตเมืองหลวงและปริมณฑลมากกว่า 1 ใน 3 จะอาศัยอยู่ในอาคารหรืออพาร์ทเม้นต์ รวมถึงคอนโดมิเนียม ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ​แต่มีโครงการคอนโดมิเนียมในเขต BMR เพียง 3% เท่านั้น ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ​โดยมากกว่า 75%  จะมีจุดให้บริการเพียงจุดละ 1 -2 ช่องจอดเท่านั้น จากจำนวนช่องจอดทั้งหมดที่มีอยู่ราว ​400 ช่องจอด เมื่อเทียบกับจำนวนยูนิตทั้งหมดที่มีกว่า 7.7 หมื่นยูนิต รวมไปถึงโครงการส่วนใหญ่ยังไม่รองรับให้ผู้ใช้สามารถจอดรถเพื่อชาร์จไฟทิ้งไว้ในเวลากลางคืนได้

ในส่วนของค่าบริการนั้น มีเพียง 4% ของโครงการที่ให้บริการฟรีแก่ลูกบ้าน ขณะที่ 96% ​จะคิดค่าให้บริการ ทั้งคิดตามระยะเวลาในการชาร์จ สัดส่วน  64%  คิดตามปริมาณการใช้ไฟ สัดส่วน 31% มีเพียง 1% เท่านั้น ที่จะคิดค่าบริการคงที่โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาหรือปริมาณของไฟฟ้าที่ชาร์จ  ซึ่งราคาในการให้บริการก็ไม่ได้ถูกแบบที่หลายคนเข้าใจ เ​พราะมากกว่าครึ่งของโครงการคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคิดอัตราค่าไฟฟ้าตามหน่วยคือ 10 บาท ต่อ กิโลวัตต์  ซึ่งแพงมากกว่า 2 เท่าของค่าไฟฟ้าสูงสุดที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำหนดที่ 4.7 บาท

จึงทำให้ผู้บริโภคที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) เพื่อลดค่าน้ำมันจำเป็นต้องกลับไปทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง เพราะพบว่า การเป็นเจ้าของรถ BEV  ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ถูกกว่าการเติมน้ำมันในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE: Internal Combustion Engine) ที่ประหยัดน้ำมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฮบริด

คุณโจนาธาน วาร์กัส รุยซ์  หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังระบุความกังวลของคนไทยที่ทำให้ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มีทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องของตัวรถยนต์ไฟฟ้าเอง รวมทั้งความกังวลที่มีต่อสถานีชาร์ประจุไฟฟ้า เช่น ความกังวลต่อศักยภาพในการให้บริการของสถานีชาร์จตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งมีจำนวนสูงสุดถึง 72%  รวมทั้งระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้ 67%  ค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสูง 53%  ใช้ระยะเวลาในการชาร์จนาน 50%  อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สั้น และความกังวลในการบำรุงรักษา มีสัดส่วนเท่ากันที่ 46%  ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสถานีชาร์จไฟไว้ที่บ้าน 40%  รวมทั้งปัญหาเรื่องระบบความปลอดภัยทั้งจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการดูแลสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้ในบ้าน ด้วยสัดส่วน 28%​ และ 20% ตามลำดับ

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม