อ่านเกม ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ เร่ง Net Zero 2050 ผ่าน ‘กำแพงเพชร โมเดล’ นำร่องสร้าง​ระบบ Bio-Cycle ​มุ่งลด Emission ​พร้อมกันทั้ง 3 สโคป

หลังประกาศเปลี่ยนผ่านธุรกิจครั้งสำคัญของกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ในระดับโลก เพื่อมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางของความยั่งยืน เพื่อให้​ธุรกิจสามารถส่งมอบได้ทั้ง Economy Value ควบคู่ไปกับการสร้าง Social Value พร้อมเป้าหมาย​เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ได้ภายในปี 2050  ​

ส่งผลให้ ‘​อายิโนะโมะโต๊ะ ​ประเทศไทย’ ประกาศแผนเพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนของทั้งกลุ่มฯ ​ผ่าน Vision 2030 เพื่อการเป็น ‘ผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน’ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘ศาสตร์แห่งกรดอะมิโน’ เพื่อส่งมอบการมีสุขภาพดีให้ผู้คนทั่วโลก ควบคู่ไปกับ​การขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยวางเป้าหมาย​ระยะกลางในปี 2030 ที่ต้องบรรลุทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50%  2. ดูแลรักษาแหล่งน้ำ 80%  3. ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล 4. ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต และ 5. จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนทั้ง 100%

ขณะที่ผลการขับเคลื่อนล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย สามารถขับเคลื่อนแต่ละมิติได้ตามแผน ทั้งการลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตลงได้ 91% หรือ 3.8 แสนตัน ผ่านการวางแผนพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทางเลือกและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน​​ 100% ​ซึ่งในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มการลดคาร์บอนเพิ่มเป็น 92% ด้วยการพัฒนาแนวทางใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มเติม และ​​เทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น

ด้านการลดใช้พลาสติก ได้ปรับบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้แล้ว 56% ลดการใช้พลาสติกลงได้ 365 ตัน จากการลดขนาดและความหนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งลดจำนวนชั้นบรรจุภัณฑ์ และผลิตจาก​วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น โดยปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพิ่มเป็น 72%

ส่วนการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิตจากทุกโรงงานรวมกันกว่า 1,300 ตัน หรือกว่า 70% จากการจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลัก Bio-cycle โดยในปีนี้จะขยายความร่วมมือจากภายในธุรกิจไปสู่ภาคของผู้บริโภคเพิ่มเติมผ่านแคมเปญ Too Good to Waste พร้อมลดความสูญเสียเหลือ 60% ภายในห่วงโซ่การผลิตของบริษัท ​

ด้านการใช้น้ำตั้งเป้าลดการใช้ลง 1.8 แสนกิโลลิตร จากปีที่ผ่านมา ลดการใช้ลงแล้ว 1.25 กิโลลิตร รวมทั้งในมิติของการจัดหารวัตถุดิบที่ยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานรับรองต่างๆ เช่น ใช้หมูที่เลี้ยงตามหลัก Animal Welfare หรือใช้กระดาษจากป่าปลูกทั้ง 100% ​รวมทั้งจะขยายไปสู่กลุ่มเ​มล็ดกาแฟเพิ่มเติมด้วย เป็นต้น

ชู ‘กำแพงเพชร โมเดล’ ต้นแบบ ‘Ajinomoto Bio-cycle’

สำหรับการขับเคลื่อนสู่ Vision 2030 ในช่วง 6 ปีที่เหลือนี้ อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย จะเร่งขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบนิเวศ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ที่สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ทั้ง 3 ระดับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งสโคป 1 และ 2 ที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการผลิตของธุรกิจเอง รวมทั้งเริ่มนำร่องลดในสโคป  3 ที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่ธุรกิจทั้งหมดของอายิโนะโมะโต๊ะ ผ่านการสร้างความเชื่อมโยง​ทั้ง​​วัฏจักรชีวมวล หรือ  ‘Ajinomoto Bio-cycle’ 

โดยมีพื้นที่นำร่องที่เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ กำแพงเพชร​’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว หนึ่งในฐานการผลิตสินค้าสำคัญอย่าง ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ ​สำหรับทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป รวมทั้งไซส์ที่รองรับกลุ่มธุรกิจ ​และ​วัตถุปรุงแต่งอาหารอายิไทด์ ไอ พลัส จี​ ซึ่งเป็นฐานผลิตเพียงแห่งเดียวของประเทศ ​รองรับการทำตลาดในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ W-Plus ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็นผงชูรส 92% และอายิไทด์ ไอ พลัส จี 8%

โรงงานกำแพงเพชร มีระบบจัดการทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Vision 2030 จากการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียน​แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทั้ง 100% โดยได้หยุด​ใช้หม้อต้มไอน้ำจากน้ำมันในกระบวนการผลิตได้สำเร็จในปี​ 2566 ที่ผ่านมา จากการ​​ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนชีวมวลขึ้นภายในโรงงาน และใช้เชื้อเพลิงจากแกลบที่เป็นวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่​สามารถผลิตไฟได้ 9.9 เมกะวัตต์ ลดการซื้อไฟฟ้าใช้ลงได้ 40% และลดคาร์บอนลงได้ 1.8 แสนตันต่อปี ​พร้อมทั้งมีส่วนช่วยกระจายรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่กว่า 300 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ปัญหาการเผาขยะทางการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อน Positive Impcat ในมิติอื่นๆ ตามเป้าหมายอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิต การลดขยะพลาสติก รวมท้ังลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร​ ขณะส่วนต่างอีก 60% ของไฟฟ้าที่ทางโรงงานยังต้องซื้อจากภาครัฐ ก็ได้เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เป็น Renewable พร้อมแผนขยายผลเพื่อเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้มากขึ้น ทั้งการใช้วัสดุทางการเกษตรอื่นๆ ที่มีในพื้นที่มาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม เช่น ใบอ้อย หรือ​เพิ่มการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงศึกษาสเกลที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน​ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการนำร่องอยู่ราว 900 ตารางเมตร และมีกำลังผลิตรวม 117 กิโลวัตต์ ​

ทั้งนี้ การประเมินการปลดปล่อยคาร์บอนของโรงงานกำแพงเพชรเมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า สามารถลด Emission ในสโคป 1 ซึ่งสะสมมาจากปีฐานในปี 2561 ลงได้แล้ว 4,247 ตัน และสามารถลดการปลดปล่อยในสโคปที่ 2 ลงได้แล้ว 38,725 ตัน

เร่งสโคป 3 ​พร้อมยกระดับเกษตรกรในพื้นที่

​สำหรับการจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในสโคปที่ 3 ​จะมุ่งขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับต้นน้ำร่วมกับกลุ่มเกษตรกร​ ผ่านโครงการ Thai Farmer Better Life Partner (TFBLP) ภายใต้การดูแลของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย)​ จำกัด ซึ่งเดิมคือบริษัท เอฟ ดี กรีน เป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของอายิโนะโมะโต๊ะ ​มีหน้าที่พัฒนา Co-product หรือผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตของบริษัท รวมทั้งการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

​​​ซึ่งจากนี้ไปการขับเคลื่อนภารกิจของ​ อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อเชื่อมโยง​การรับรู้นโยบายด้านความยั่งยืนให้กับกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ในกลุ่ม Green Technology เพิ่มมากขึ้น จากการรับรู้ส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ของอายิโนะโมะโต๊ะที่​มักจะติด​อยู่ในกลุ่มอาหาร หรือผงชูรส เท่านั้น

​ทั้งนี้ ภายในกระบวนการผลิตของอายิโนะโมะโต๊ะ ทั้งจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ และจากการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้า จะมีผลิตภัณฑ์ร่วมอย่าง ขี้เถ้าแกลบ น้ำหมักจากกระบวนการผลิต หรือตะกอนจากกระบวนการบำบัดน้ำ ซึ่งจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ปรับปรุงดิน ปุ๋ยชีวภาพ หรือสารปรับปรุงผลผลิตต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จาก Co-product ใน 6 กลุ่ม รวม 11 รายการ ซึ่งทางอายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน จะเริ่มทำตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบ B2C กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง หรือ B2B ร่วมกับกลุ่มโรงงานต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรของตัวเอง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตในมิติของรายได้จากยอดขายให้เพิ่มขึ้นราว 2.5 เท่า ภายในปี 2030

อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน และ โครงการ TFBLP จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยลด Emision ในสโคป 3 ได้อย่างมาก ทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอินทรีย์เคมี มาทดแทนการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ขณะที่คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ และเพิ่มความแข็งแรงให้สายพันธุ์ ทำให้ช่วยลดจำนวนการเพาะปลูก​แต่สามารถรักษาปริมาณผลผลิต ทำให้ช่วยลดการสร้าง Emission ลงได้ และยัง​ส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทาง​ธุรกิจของอายิโนะโม๊ะโต๊ะเช่นเดียวกัน​ นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอด Waste จากกระบวนการผลิต ทำให้ช่วยลดการสร้างขยะ และสามารถพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่​ ซึ่งสามารถกลับไปดูแลกลุ่มเกษตรกรในส่วนของต้นน้ำธุรกิจได้ รวมทั้งการจัดทำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมคุณภาพได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ ทำให้สามารถดูแลการสร้างก๊าซเรือนกระจก​ที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น​

สำหรับการฉายภาพ​การขับเคลื่อน Vision 2030​ ของอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 2050 ทีมผู้บริหาร ประกอบด้วย คุณเค็นจิ ฮะระดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด,  คุณนัฏทพนธ์ พานิชดี ผู้จัดการโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ จังหวัดกำแพงเพชร และ​ ดร.โคะเฮ​ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย)​ จำกัด ร่วมให้ข้อมูลการขับเคลื่อน​และเป้าหมายที่ทางอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ต้องการบรรลุในแต่ละมิติ ​โดยประเมินเม็ดเงินลงทุนที่จะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3,00 ล้านบาท  สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสามารบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วางไว้

ขณะที่โมเดล Ajinomoto Bio-cycle ในพื้นที่ต้นแบบอย่างกำแพงเพชร ก็จะสามารถนำเป็น Best Practice เพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งตอบโจทย์การขับเคลื่อนธุรกิจของอายิโนะโมะโต๊ะที่ต้องการสร้างคุณค่าได้อย่างรอบด้านทั้งในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมทั้งในมิติของการดูแลสังคม​​ไปพร้อมกัน

Stay Connected
Latest News