ส่อง 7 แนวทาง รณรงค์ให้ครอบครัวอเมริกันใช้น้ำอย่างประหยัด

การรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดน้ำน่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดี​ แต่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่มีการกระตุ้นเตือนรณรงค์ในเรื่องนี้ เนื่องจากในประเทศที่ระบบการประปาดี แค่เปิดก๊อกก็มีน้ำไหลออกมาให้ใช้ ให้ดื่ม หรือให้อาบได้ตามเวลาที่ต้องการในปริมาณที่เพียงพอ ทำให้ผู้คนมักจะละเลย ไม่ค่อยตระหนักในเรื่องของการประหยัดน้ำเท่าที่ควร

เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงจาก Environmental Protection Agency (EPA) ระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยภายในครอบครัวของคนอเมริกันในแต่ละปีนั้น มากกว่า 300 แกลลอน หรือราว 1,364 ลิตร ซึ่งเทียบเท่าได้กับปริมาณน้ำต้องใช้เติมในสระว่ายน้ำจำนวน 10 สระเลยทีเดียว

ขณะที่ปริมาณความต้องการน้ำสะอาด มีเพิ่มมากขึ้นกว่าความสามารถในการผลิตได้ในหลายพื้นที่ของประเทศ หรือในโลก ประกอบกับดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร รวมไปถึงความต้องการใช้น้ำสำหรับในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร โดยเฉพาะผลกระทบจากเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือปัญหา Climate Change ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลทที่ทำให้ปริมาณซัพพลายของน้ำลดลงเช่นเดียวกัน

ดังนั้นการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สามารถเริ่มต้นจากภายในบ้านจึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อีกทางหนึ่ง และนี่คือ 7 วิธี ที่มีการสื่อสารผ่านสื่อ เพื่อกระตุ้นไปยังอเมริกันชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด  รวมทั้งเป็นการประหยัดเงินในกระเป๋าในยุคเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้อีกด้วย 

1. ปิดก๊อกน้ำขณะแปรงฟัน

การเปิดก๊อกน้ำให้น้ำไหลอยู่ตลอดเวลาในขณะที่เรากำลังแปรงฟันนั้นจะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำเป็นอย่างมาก จากการรายงานของ Friends of the Earth ซึ่งเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า หากเปิดน้ำทิ้งไว้ภายใน 1 นาที จะสูญเสียน้ำไปถึง 1.3 แกลลอน หรือ 6 ลิตร เลยทีเดียว ดังนั้น การปิดน้ำระหว่างแปรงฟัน หรือ รินน้ำใส่แก้วแล้วใช้เท่าที่จำเป็นจะช่วยประหยัดน้ำได้เยอะเลยทีเดียว

2. อาบน้ำแต่พอดี

หลายคนอาจชอบอาบน้ำนานๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการอาบน้ำแต่ละครั้งสูญเสียน้ำ 5-10 แกลลอน (19 – 38 ลิตร) ต่อนาที ดังนั้นการลดระยะเวลาในการอาบน้ำหรือปิดน้ำระหว่างสระผมหรือถูสบู่ก็จะช่วยประหยัดน้ำได้นั่นเอง

3. เปลี่ยนหัวฝักบัว

การเปลี่ยนหัวฝักบัวมาใช้ชนิดที่ช่วยลดการใช้น้ำเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่ง แต่หากเปลี่ยนไม่ได้ ก็ลองใช้ flow restrictor ที่ช่วยจำกัดอัตราการไหลของน้ำก็จะช่วยให้ประหยัดน้ำได้เช่นกัน

4. เปิดใช้งานเครื่องล้างจานหรือเครื่องซักผ้าเมื่อเครื่องเต็มถังเท่านั้น

การเปิดใช้งานเครื่องล้างจานหรือเครื่องซักผ้าเมื่อเครื่องยังไม่เต็มถังหรือต้องซักล้าง 2 รอบเป็นการสิ้นเปลืองน้ำและพลังงานมากกว่าการเปิดใช้งานในครั้งเดียว การเปิดใช้งานเครื่องเมื่อเต็มถังช่วยประหยัดน้ำได้ในปริมาณเยอะทีเดียว เพราะโดยปกติเครื่องล้างจานใช้น้ำประมาณ 25 แกลลอน (95 ลิตร) และเครื่องซักผ้าใช้น้ำประมาณ 30-36 แกลลอน (114-132 ลิตร) 

5. เปลี่ยนโถส้วมเก่าเป็นแบบประหยัดน้ำ

โถส้วมแบบเก่าใช้น้ำถึง 6 แกลลอน (23 ลิตร) ต่อการกดน้ำ 1 ครั้ง แต่โถส้วมชนิดประหยัดน้ำใช้น้ำเพียง 1.28 แกลลอน (4.5 ลิตร) หรืออาจน้อยกว่านั้น หากการเปลี่ยนโถส้วมเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสะดวกนัก ก็ลองนำทรายหรือกรวดใส่ขวดพลาสติกแล้วนำไปวางไว้ที่ก้นชักโครกก็จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำโดยที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับชักโครก

6. ตรวจสอบรอยรั่วตามก๊อกและท่อน้ำ

การรั่วซึมเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้สูญเสียน้ำในปริมาณมากไปอย่างเปล่าประโยชน์ได้ ดังนั้นการมั่นตรวจสอบการรั่วซึมตามก๊อกหรือท่อน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็น และหากจำเป็นต้องเปลี่ยนก็จะช่วยให้สามารถประหยัดน้ำและลดค่าน้ำได้ในระยะยาว 

7. รดน้ำสนามหญ้าหน้าบ้านด้วยความรับผิดชอบ

การรดน้ำสนามหญ้าหน้าบ้านเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ใช้น้ำในปริมาณมาก แทนที่เราจะรดน้ำตามตารางเวลาที่ตั้งไว้ ก็รอจนกว่าหญ้าต้องการน้ำจริงๆ โดยตรวจสอบได้ด้วยการเหยียบลงไปบนหญ้า เพราะถ้ามันดีดตัวขึ้นมาก็แสดงว่ามันยังไม่ต้องการน้ำ เมื่อไหร่ก็ตามที่รดน้ำสนามหญ้า อย่าลืมให้เวลาที่เพียงพอเพื่อให้น้ำซึมลงสู่ราก และหากอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งก็อาจลองเปลี่ยนหญ้าเพื่อให้มีการจัดสวนที่ประหยัดน้ำมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม  แม้แนวทางการรณรงค์ดังกล่าว จะใช้ในการสื่อสารกับชาวอเมริกัน แต่สามารถนำมาปรับใช้ในบ้านเราได้ด้วยเช่นกัน ​เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันทำให้การใช้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขี้นโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ หากไม่มีการจัดการน้ำที่ดีพอก็อาจจะทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตได้

source 

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม