“หลักอิทธิบาท 4 กับการแยกขยะ” เมื่อขยะไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงแค่ทรัพยากรที่ถูกวางไว้ผิดที่

“ขยะไม่มีจริง แต่เป็นเพียงสิ่งที่เรามโนคติขึ้นมาเอง  ขยะเป็นแค่ทรัพยากรที่ถูกวางไว้ผิดที่เท่านั้น”  อีกหนึ่งหลักคิดจาก พระครูทิพากร อริโย รองเจ้าอาวาสวัดจากแดง วัดต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะ ที่นอกจากเป็นศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชนในพื้นที่ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ แล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และคัดแยกขยะให้กับผู้คนในชุมชน รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย

วัดจากแดง น่าจะเป็นวัดแห่งแรกของประเทศ ที่มีการบิณฑบาตขยะพลาสติก เชิญชวนให้มีการทำบุญด้วยขวดพลาสติก และนำพลาสติกที่ได้ ไปคัดแยก เพื่อให้ทุกส่วนถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด โดยไม่สร้างขยะ เช่น ฝาขวด จะนำไปทำเป็นโต๊ะเก้าอี้ ตัวขวดสามารถนำไปทำเป็นเส้นใยสำหรับทอผ้า โดยเฉพาะการนำไปทำเป็นผ้าไตรจีวร หรือชุด PPE  ขณะที่ฉลากข้างขวด ก็จะมีการนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ภายในวัด

นอกจากนี้ ในวัดยังมีขยะประเภทต่างๆ อีกจำนวนมาก เช่น ถุงพลาสติก หรือขยะจากเศษอาหาร ซึ่งขยะทุกประเภทจะมีการนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น ถุงพลาสติกสามารถนำไปผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ น้ำมันไบโอดีเซล ส่วนขยะอาหารก็สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพได้ เป็นต้น

แต่ถึงแม้ทางวัดจะมีการขับเคลื่อนและปลูกฝังให้คนเห็นคุณค่าในเรื่องของการบริหารจัดการและคัดแยกขยะในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนที่วางเฉย ไม่เห็นความสำคัญในการจัดการคัดแยกขยะ ซึ่งพระครูทิพากร มองว่า ปัญหาที่ทำให้ชาวบ้านรวมไปถึงคนไทยบางส่วนยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้มากนัก โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเชิงประจักษ์​ เพื่อทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นภาพ และตระหนักถึงผลกระทบที่จะส่งผลถึงตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพชีวิตและสุขภาพ

Credit : https://watchakdaeng.com/

“เราต้องสร้างความตระหนักให้ทุกคนรับรู้ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างสิ่งปฏิกูล ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร ฝุ่นละออง หรือไมโครพลาสติก​ ที่จะส่งผลให้เราเกิดอาการเจ็บป่วยตามมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้ และระมัดระวังในการทิ้งมากขึ้น ซึ่งในบางประเทศมีการศึกษาค้นคว้า และวิจัยข้อมูลเรื่องเหล่านี้อย่างมากและพบว่า สุดท้ายแล้ว ส่ิงปฏิกูลต่างๆ ที่เราทิ้งจะย้อนกลับมาหาเราภายใน 22 ปี ​แต่ประเทศไทย ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้แบบจับต้องได้ ​ ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลเหมืนอเรื่องโควิด -19 ที่ทุกคนรับรู้ถึงความน่ากลัว และระมัดระวังป้องกันอย่างจริงจัง ขณะที่เรื่องไมโครพลาสติก มลพิษ หรือฝุ่น PM 2.5 บางคนอาจจะมองว่าไกลตัวหรือยังไม่ร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิต จึงเพิกเฉยไม่เห็นความสำคัญ จำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้คนตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน โดยเฉพาะการมีชีวิตโดยที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ จะเป็นผลเสียอย่างไร หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างไร เป็นต้น”​ 

หลักธรรมกับพฤติกรรมในการแยกขยะ

ขณะเดียวกัน  ต้องชี้ให้เห็นประโยชน์ในการคัดแยกขยะจนกลายเป็นนิสัย  โดยเฉพาะการเข้าไปสื่อสารกับคนที่ไม่เคยแยกขยะมาก่อน อาจจะยังไม่มีความสนใจ ไม่มีความรู้ หรือยังไม่เห็นความสำคัว่าจะต้องเแยกขยะไปทำไม ดังนั้น การจะดึงดูดหรือเชิญชวนคนเหล่านี้ให้มาเริ่มคัดแยกขยะ ควรยึด 3 หลักการง่ายๆ ได้แก่  1. ทำแล้วต้องสนุก ทำแล้วชอบ ไม่ใช่เริ่มทำแล้วทุกข์ หรือเครียดทั้งตัวเองหรือคนรอบข้าง แต่ต้องสนุกหรือมีความสุข 2. ต้องสามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มได้จากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว เพื่อให้ก้าวไปสู่ลำดับในขั้นต่อไปได้ 3. ทำแล้วเกิดประโยชน์กลับมาถึงตัวเอง ทำแล้วรู้ว่าได้อะไร ทั้งในเชิงมูลค่า หรือคุณค่า เพื่อให้สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดเป็นความยั่งยืนตามมาในที่สุด

ซึ่งสอดคล้องกับการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งเป็นหนทางที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ  มาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนพฤติกรรมการแยกขยะให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังต่อไปนี้

ฉันทะ คือ การมีความรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งต้องทำให้ผู้คนมีความตระหนัก หรือชื่นชอบในเรื่องนี้ ทั้งจากองค์ความรู้ที่มี การเห็นตัวอย่างจากผู้คน ชุมชน หรือการขับเคลื่อนของผู้นำ ที่มีการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างให้เกิดการอยากเรียนรู้

วิริยะ ​คือ การกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย ซึ่งการเริ่มต้นแยกขยะในแต่ละวันนั้น เราใช้เวลาในการแยกแค่ไม่กี่วินาที แต่สามารถแก้ปัญหาได้จากต้นทาง แต่หากมองข้ามและปล่อยให้กลายเป็นปัญหา จะแก้ไขได้ยากกว่าและอาจใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปี ดังนั้น การสร้างนิสัยแยกขยะ​ ถือว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่คุ้มค่าและตรงจุดที่สุด

จิตตะ คือ การโฟกัสในเรื่องที่ทำ จนมองเห็นผลลัพธ์ที่สามารถชื่นชมได้ รวมทั้งมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจนมีความชำนาญ​และสามารถแนะนำเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาคนอื่นได้  ​

วิมังสา คือ การนำองค์ความรู้ที่มี ไปพัฒนาต่อยอดตามแนวทางของตัวเองเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางและรูปแบบในการดำรงชีวิตของตัวเองได้

“อุปสรรคสำคัญของประเทศ คือ การที่เรายังไม่มีข้อมูล และไม่มีการนำพาเพื่อให้คนตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน และต่อเนื่อง รูปแบบการขับเคลื่อนมีมาเป็นแบบครั้งคราว ตามวัน ตามวาระโอกาสต่างๆ เช่น วันสิ่งแวดล้อม วันรักษ์โลก วันเก็บขยะ ทำให้อาจจะมีการพูดถึง หรือตระหนักรู้เพียงแค่ในวันต่างๆ เหล่านี้ ขณะที่ขยะเกิดขึ้นทุกวัน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางวัดกำลังพยายามขับเคลื่อนอยู่”​

พระครูทิพากร อริโย ยังให้แนวคิดส่งท้ายอีกว่า ​​”การเก็บขยะ ยังถือเป็นการฝึกตน ฝึกวินัย เพื่อให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน อีกหนึ่งอานิสสงส์ที่ซ่อนอยู่จากการแยกขยะ เท่ากับเป็นการสร้างพื้นฐานปลูกฝังลักษณะนิสัย และความมีวินัยให้กับบุคลากรของคนในชาติ โดยเฉพาะจิตสำนึกที่จะไม่เป็นผู้สร้างขยะ หรือไม่ทำให้กลายเป็นการสร้างภาระต่อให้คนอื่น มีความรับผิดชอบต่อการกิน การใช้ ซึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานในการพัฒนาประเทศได้เช่นเดียวกัน”​

Credit : https://watchakdaeng.com/
Stay Connected
Latest News