‘มาม่า’ รับ ‘ต้นทุนราคา’ เป็นกำแพงสำคัญในการเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

“เวลาไปเที่ยวที่ไหน โดยเฉพาะสถานที่ตามธรรมชาติ แล้วมองไปเห็นขยะจากซองหรือถ้วย “มาม่า”​ ถูกทิ้งอยู่ตามชายทะเล น้ำตก หรือตามป่าเขาต่างๆ แม้เราจะไม่ได้เป็นคนทิ้งขยะพวกนั้น แต่ในฐานะผู้ผลิตเราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเป็นหนึ่งในผู้สร้างขยะ เพราะต้นทางของขยะเหล่านี้ล้วนมาจากเราทั้งสิ้น เรื่องนี้จึงกลายโจทย์ใหญ่ที่ผู้ผลิตต้องกลับมาคิดต่อ ว่าจะมีวิธีไหนบ้าง ที่สามารถช่วยลดจำนวนขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไม่ให้เหลือตกค้างในธรรมชาติได้อีก”

จากความรู้สึกของ คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ​ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของประเทศอย่าง “มาม่า” ​สะท้อนถึง​การรับรู้​และยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจของตัวเองนั้นมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการเป็นผู้ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ของมาม่า ทั้งแบบซองและแบบคัพ ที่มีปริมาณการผลิตในแต่ละปีสำหรับรองรับตลาดในประเทศไม่น้อยกว่า 2 พันล้านชิ้นเลยทีเดียว

การมองหาโซลูชันที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดึงขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ กลับคืนมายังต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด​ จึงเป็นหนึ่งแนวทางที่ทางไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์กำลังเร่งศึกษา เพื่อให้สามารถขยายผลต่อยอดการแปลง​ขยะจาก Waste ให้สามารถสร้าง Value ได้มากกว่าแค่การเป็นขยะที่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ เช่น การนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าต่างๆ หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ​ ซึ่งหนึ่งในโมเดลใหม่อย่าง มาม่าช็อป ที่ได้นำร่องเปิดตัวไปในงานสหกรุ๊ปแฟร์ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเข้าไปช่วยเก็บขยะบรรจุภัณฑ์ของมาม่าตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

“ก่อนหน้านี้ เราเคยมีการจับฉลากชิงโชคจากซองและคัพมาม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีในการได้บรรจุภัณฑ์กลับคืนมาจำนวนมาก แต่ด้วยข้อกฎหมายที่หมิ่นเหม่กับการเล่นพนัน ทำให้ไม่สามารถจัดแคมเปญในลักษณะดังกล่าวได้อีก จึงต้องมาคิดหาแนวทางใหม่ที่จะได้รับความร่วมมือจากผู้บริโภคเช่นนี้อีก ซึ่งปัจจุบันบริษัทในเครือมีการจัดรายการนำบรรจุภัณฑ์มาแลกพ้อยท์สะสม เพื่อนำไปเป็นส่วนลดแลกซื้อสินค้าได้ ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนหนึ่ง”

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม “มาม่า” ไม่เลือกวิธีเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือการหันมาใช้พลาสติกชีวภาพที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และน่าจะเป็นการแก้ปัญหาจากต้นทางได้จริงๆ ซึ่ง คุณพันธ์ ยอมรับว่า ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2-3 เท่าตัวได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการแบกรับต้นทุนทางธุรกิจค่อนข้างหนักมากอยู่แล้ว  แต่แนวทางดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในโซลูชันที่มาม่ากำลังจะทำเช่นเดียวกัน แต่จะเริ่มนำร่องในกลุ่มตลาดสำหรับส่งออก และในตลาดพรีเมียมเท่านั้น ที่อาจจะเริ่มเห็นได้ในปีหน้า แต่ในเชิงการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญเรื่องผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมนั้น อาจจะยังไม่มีผลมากนัก เพราะสัดส่วนของสินค้าพรีเมียมในตลาดอยู่ที่ไม่เกิน 10% เท่านั้น

“ปัจจุบันเทคโนโลยีในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถมาทำให้ต้นทุนอยู่ในจุดที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจได้ โดยเฉพาะสเกลใหญ่ในตลาดแมสของมาม่าแบบซอง และแบบคัพ ​ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านี้ได้ เนื่องจาก มาม่า เป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมที่มีการกำหนดราคาจำหน่าย ไม่สามารถปรับขึ้นให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถส่งมอบได้ทั้งสินค้าที่มีคุณภาพ มีความอร่อย ดีต่อสุขภาพ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับราคาขึ้นได้ ทำให้บริหารจัดการได้ค่อนข้างลำบาก แต่ที่ผ่านมา มาม่าให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด สะท้อนได้จากริเริ่มเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากถ้วยพลาสติกมาเป็นถ้วยกระดาษ  เพื่อลดการใช้ปริมาณพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ลง​ ตั้งแต่เมื่อราว 20 กว่าปีที่แล้ว”​

Credit : Facebook Pun Paniangvait

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ วางแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญจากการเริ่มขับเคลื่อนจากภายใน ด้วยการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อส่ิงแวดล้อมให้แก่พนักงานกว่า 6,000 คน เพื่อขับเคลื่อนจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำได้จริง จากการปลูกฝังภายในองค์กรและถ่ายทอดไปสู่ครอบครัวและคนรอบข้าง เช่น การคัดแยกขยะภายในองค์กร หรือภายในโรงงานทั่วประเทศ ที่สามารถช่วยลดขยะได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะได้ผลกว่าการขับเคลื่อนแคมเปญใหญ่ๆ แต่ไม่มีการทำต่อเนื่อง เพราะไม่ได้สร้างให้เกิดความตระหนักที่แท้จริง

ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวทางในการลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิต และการนำขยะที่ผลิตและจำหน่ายออกไปกลับเข้ามาสู่ต้นทาง ​รวมทั้งหากเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์สามารถพัฒนาได้จนถึงจุดที่ผู้ประกอบการรับได้ คงมีการปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อมอย่างแน่นอน ​เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนภายใต้ความยั่งยืน ทั้งการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคไปพร้อมกัน โดยล่าสุดได้มีการเปิดตัวสูตรลดโซเดียมลง 32-43% เพื่อตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน

Stay Connected
Latest News