เอไอเอส ชวนมองปัญหา​ Small E-Waste รณรงค์คนไทยส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้ เข้าสู่กระบวนนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกหนึ่งความกังวลของโลก โดยเฉพาะในกลุ่ม Small E-Waste หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจำพวกอุปกรณ์ E-Device ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หูฟัง รวมไปถึงแปรงสีฟันไฟฟ้า เครื่องปิ้งขนมปัง และกล้อง ที่คนส่วนใหญ่มักไม่ทิ้งแต่เก็บไว้จนลืมแต่สุดท้ายก็กลายเป็นขยะ ประกอบกับวัสดุสำคัญที่อยู่ภายในซึ่งสามารถนำมาสกัดเพื่อเป็นประโยชน์ในการผลิตอุปกรณ์ชิ้นใหม่ได้ก็จะจมหายไปอยู่ในจำนวนนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญจากเวทีฟอรั่ม Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) ระบุ ทั่วโลกมีจำนวนสมาร์ทโฟนกว่า 1.6 หมื่นล้านเครื่อง ซึ่งราว 5.3 พันล้านเครื่องจะกลายเป็นขยะในสิ้นปีนี้ ในจำนวนนี้หากนำมาวางต่อกันบนพื้น โทรศัพท์เหล่านี้จะมีความสูงมากถึง 5 หมื่นกิโลเมตร (ขนาดความหนาเฉลี่ยต่อเครื่อง 9 มม.) ซึ่งสูงกว่าสถ​านีอวกาศนานาชาติถึง 120 เท่า และคิดเป็น 1 ใน 8 ของระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์
ขณะที่วาระสำคัญในโอกาสวันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล หรือ International E-Waste Day ในปี 2022 ​ซึ่งชูแนวคิด Recycle it all, no matter how small! สะท้อนประเด็นการหลงลืม Small E-Waste ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน หรือเสียหาย แต่ยังคงเก็บไว้อยู่ในบ้านไม่ได้นำไปทิ้ง และรณรงค์การเก็บขยะ E-Waste ชิ้นเล็กๆใกล้ตัวไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อสามารถดึงกลับมาใช้งานหรือส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในปี 2565 เพียงปีเดียว จะมีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กมากถึง 24.5 ล้านตันทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากกว่า 22 ล้านตัน ในปี 2019 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของ E-Waste ทั้งหมดที่ผลิตทั่วโลก

ทั้งนี้ หากกลุ่ม Small E-Waste ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับ E-Waste ภาพรวมที่เติบโตราว 3% ต่อปี จะทำให้จำนวนขยะกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น​ 29 ล้านตัน ภายในปี 2573 ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงกับการเพิ่มขึ้นของมลพิษหากไม่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล โดยตัวอย่างการสำรวจครัวเรือนในยุโรป พบว่า 5 อันดับ Small E-Waste ที่มักถูกทิ้งหลงลืมไว้ตามส่วนต่างๆ ของบ้าน ได้แก่ 1. อปุกรณ์เสริมต่างๆ เช่น หูฟัง รีโมทคอนโทรล 2. เครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น นาฬิกา เตารีด​ 3. อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอก เราเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ 4. มือถือและสมาร์ทโฟน และ 5. อุปกรณ์ทำอาหารขนาดเล็ก เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง การแปรรูปอาหาร เตาย่าง ตามลำดับ
ส่วนเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บสิ่งของเหล่านี้ไว้จนทำให้เกิดการหลงลืมตามมา อันดับแรก คือ คิดว่าในอนาคตอาจจะได้ใช้ สูงถึง 46% ตามมาด้วยเก็บไว้ขายหรือบริจาค 15% เป็นของที่มีคุณค่าทางใน 13% มองถึงมูลค่าที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต 9% และมีถึง 7% ที่ไม่ทราบวิธีในการกำจัดขยะเหล่านี้
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนไทยแล้ว เรายังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย โดยเป็นแกนนำในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์  E-Waste พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหา ผลกระทบและวิธีการแยก E-Waste อย่างถูกวิธีและยั่งยืน โดยพบว่า ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยในการครอบครอง E-Waste ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หูฟัง ที่มักถูกทิ้งไว้ในบริเวณต่างๆ ของบ้าน มากถึง 5 กก. ต่อคน และมีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการเติบโตของดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาซึ่งมลพิษต่อคนในครอบครัวและสิ่งแวดล้อม หากไม่มีกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี”

ดังนั้น โครงการ “คนไทยไร้ E-waste” จากจุดเริ่มต้นในปลายปี 2019 – 2022 ที่ได้ร่วมกับพันธมิตรกว่า 142 องค์กรเพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธีและยั่งยืน ที่ปัจจุบันได้ร่วมกันเก็บ E-Waste ได้แล้วถึง 351,300 ชิ้น ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 3,513,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าต้นไม้ขนาดใหญ่ 390,333 ต้น พร้อมตั้งเป้าว่า ภายในปี 2023 เราจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีให้ได้ถึง 500,000 ชิ้น จึงขอเป็นตัวแทนคนไทยเชิญชวนให้นำ E-Waste ขนาดเล็ก 4 ประเภท ได้แก่ 1.มือถือ/แท็บเล็ต 2.สายชาร์จ 3.หูฟัง 4.แบตเตอรี่มือถือ  มาทิ้งได้ที่

– AIS shop และพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 142 องค์กร ที่มีจุดรับทิ้งจำนวนกว่า 2,400 จุด

– ฝากทิ้ง E-Waste กับพี่ไปรษณีย์ ที่พร้อมมารับถึงหน้าบ้าน หรือทิ้งได้ที่ไปรษณีย์ไทยสาขาใกล้บ้าน ฟรี

“เพราะ E-Waste คือขยะอันตราย ถ้าทิ้งไม่ถูกที่ และกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ก็จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทั้งของเราและบุตรหลานได้ ทั้งนี้การทิ้งให้ถูกที่ และเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี จะทำให้ E-Waste สามารถกลับมาสร้างประโยชน์ หลังผ่านการรีไซเคิลออกมาเป็นวัตถุดิบต่างๆ เช่น เงิน ทอง ทองแดง พลาสติก ตะกั่ว อันจะสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งลดการฝังกลบที่จะเป็นมลพิษต่อโลกในระยะยาวอีกด้วย” นางสายชล กล่าวย้ำ

Stay Connected
Latest News