“พูดแล้วทำ” แอ็คชั่นสู่ความยั่งยืนในแบบเอสซีจี

เอสซีจี เผยมุมมองเดินหน้าธุรกิจอย่างยั่งยืน ต้อง “พูดแล้วทำ” เน้นมองภาพให้ตรงกัน ตั้งเป้าหมายให้ชัดเหมือนเป้าหมายการทำธุรกิจ พร้อมเผยโฉมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความยั่งยืนจากเอสซีจี

“ความยั่งยืน” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในงาน “SUSTAINABILITY EXPO 2022 : GOOD BALANCE, BETTER WORLD” มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เมื่อไม่นานนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทุกภาคส่วนที่ได้มาร่วมแบ่งปันแนวคิด แนวปฏิบัติและแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวบนเวทีเสวนา “CEO Panel Discussion: Leading Sustainable Business” ว่า “ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีใช้เวลาในการตอบคำถามว่า ทำไมต้องทำเพื่อความยั่งยืน ทำไมเลือกลงทุนกับสิ่งนี้ ท่ามกลางภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน ซึ่งมีความไม่แน่นอนที่สูงมาก และความไม่แน่นอนในที่นี้ ไม่ใช่เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องของ “ระยะเวลา” ของความผันผวน”

ในแง่การลงทุน รุ่งโรจน์มองว่า บางอย่างทำแล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก แต่กลับไม่ตอบสนองด้านรายได้ หรือบางอย่างทำรายได้ดีมาก แต่ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก ในทางปฏิบัติ ทุกองค์กรเจอเหมือนกันหมด ซึ่งเอสซีจีจะต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในด้านต่าง ๆ

“สุดท้ายแล้ว จะต้องมองย้อนกลับไปที่วิสัยทัศน์ขององค์กรว่าตรงกันหรือไม่ ต้องการเดินไปข้างหน้าอย่างไร ซึ่งในวิกฤติที่เรากำลังเผชิญ ถ้ามองให้ดีก็คือโอกาส โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ”

พูด-ทำ ให้ตรงกัน

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งความท้าทายในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนคือ “การพูดและทำให้ตรงกัน” ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกฝ่าย รวมถึงเอสซีจีด้วย เพราะบางครั้ง เมื่อพูดไปแล้วกลับไม่ได้ทำจริง หรือทำไปคนละทางกับที่พูดไว้ “เรื่องนี้อาจแก้ได้ด้วยการตั้งเป้า วางแผน และติดตามผลให้เหมือนกับการดำเนินธุรกิจ ถ้าทุกคนพูดและทำแบบเดียวกัน เราก็ค่อนข้างสบายใจได้ว่าปัญหาโลกร้อนคงจะแก้ไขได้ สำหรับเอสซีจี แม้จะมีความท้าทายมาก แต่เราพร้อมสู้”

นอกจากนี้ รุ่งโรจน์ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เอสซีจีกำลังดำเนินการอยู่คือ การตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยจะลดการใช้ถ่านหินลงเรื่อย ๆ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในการผลิตซีเมนต์ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและติดตามผลให้เหมือนกับการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 เอสซีจีจะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ 20% เมื่อบริษัทมีเป้าหมายแล้ว การวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก็จะตามมาในท้ายที่สุด

คำแนะนำที่อยากบอกกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจีกล่าวว่า การเปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงานอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะธุรกิจมีทุนจำกัด แต่สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ ให้มองย้อนกลับไปที่พื้นฐานในการทำธุรกิจโดยตั้งต้นจาก “ลูกค้า” สำรวจความต้องการและปัญหา (Pain Point) ของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งในแง่ของสินค้า การใช้งาน และการรีไซเคิล

“การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้เข้าไปจับเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่าย และจะเป็นตัวอย่างของเคสของความสำเร็จเล็ก ๆ ภายในองค์กรของเรา และทำให้เกิดการขยายวงที่กว้างขึ้นได้” รุ่งโรจน์กล่าวปิดท้ายในช่วงเสวนา

โชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน

ในงานดังกล่าว เอสซีจีได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดแสดงภายใต้คอนเซ็ปต์ “Sustainability for All” ที่ชวนทุกคนก้าวสู่ไลฟ์สไตล์แห่งอนาคต ตอกย้ำความมุ่งมั่นตามแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero 2050 – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) ดังนี้

นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตดียั่งยืน (Sustainable Being) อาทิ “SCG Bi-ion” ระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ กำจัดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย สูงถึง 99% รวมถึงช่วยลดฝุ่น PM 2.5 และ “Wellness Home Hub” เทคโนโลยีเชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพมาไว้ที่บ้านของทุกคน ส่งข้อมูลสุขภาพ-ติดตามอาการ-ปรึกษาแพทย์ได้เรียลไทม์

นวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยยั่งยืน (Sustainable Living) อาทิ “Trinity” ระบบ IoT Ecosystem Platform ที่เชื่อมต่อการทำงานของนวัตกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านได้อย่างสะดวกสบายในแพลตฟอร์มเดียว ทั้ง SCG Solar Roof Solutions, SCG Active AIRflow System และ SCG Active AIR Quality รวมถึง “Smart Faucet” ก๊อกน้ำอัจฉริยะสั่งงานด้วยเสียง ควบคุมการเปิดปิดน้ำสะดวก ประหยัดน้ำได้มากกว่าเดิม และ “Mixed Reality” เทคโนโลยีความเป็นจริงผสม ที่ช่วยให้อาชีพเสี่ยงอันตราย ฝึกฝนได้ยาก เช่น นักผจญเพลิง นักสำรวจอวกาศ สามารถฝึกอบรมได้เสมือนจริงโดยไม่ต้องอยู่ในสถานการณ์จริง

นวัตกรรมเพื่ออนาคตยั่งยืน (Sustainable Future) อาทิ “SCG Solar Roof Solutions ระบบ Hybrid” ระบบหลังคาโซลาร์ เทคโนโลยีไฮบริด มีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วยประหยัดสูงสุดถึง 60% และ “CPAC BIM” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการออกแบบก่อสร้างแม่นยำ ลดการสูญเสียทรัพยากร

รุ่งโรจน์ กล่าวถึงเป้าประสงค์นวัตกรรมของเอสซีจีว่า “ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ นอกจากจะเน้นเรื่องความสะดวกสบาย ปลอดภัยแล้ว ยังต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างเอสซีจีและคนรุ่นใหม่หลากหลายสาขา เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และได้ร่วมดูแลโลกไปพร้อมกันในทุก ๆ วัน”

Stay Connected
Latest News