อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดแพ็กเกจจัดประชุมอย่างยั่งยืน รับดีมานด์ผู้จัดงานมองกรอบ ESG เพิ่มมากขึ้น

การขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความตระหนักเพิ่ม​มากขึ้น รวมทั้งในธุรกิจไมซ์ (MICE) ที่ผู้จัดงานต่างมองหาแนวทางในการจัดประชุม นิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าต่างๆ ทั้งในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ ตามแนวทางในการรจัดงานอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในฐานะผู้นำธุรกิจไมซ์ ที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงผลกำไรหรือมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจเพียงอย่างเดียว​ แต่ยังคำนึงถึงการมีส่วนร่วมผลักดันและส่งเสริมแนวคิดการจัดงานอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ​จึงได้เปิดตัวแพ็กเกจ Impact Sustainable Meeting เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มผู้จัดงานประชุม อีเวนต์ คอนเสิร์ตต่างๆ ให้สามารถจัดงานโดยมีส่วนร่วมในการช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมได้ ​โดยอิมแพ็คฯ ถือเป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมรายแรกของประเทศไทย ที่มีการวางแนวทางปฎิบัติสำหรับการจัดงานแบบยั่งยืนในทุกรูปแบบการไว้คอยบริการ ผ่านการบริหารจัดการอย่างสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนผ่าน 3 ส่วนสำคัญต่อไปนี้

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

1. การให้บริการสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เช่น การเผยแพร่นโยบายความยั่งยืนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดห้องประชุมอย่างยั่งยืน ด้วยการงดใช้ผ้าคลุมโต๊ะและเก้าอี้ในการจัดประชุม การตั้งจุดบริการแบบกลุ่มแทนรายบุคคล งดใช้หลอดพลาสติกในทุกกิจกรรม, ควบคุมเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การแยกประเภทขยะ เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะเปียก ขยะทั่วไป รวมถึงเลือกใช้ถังขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เลือกใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สบู่ล้างมือ และน้ำยาล้างจานในครัว เป็นต้น

2. การเลือกเมนูอาหารสำหรับจัดการประชุมแบบรักษ์โลก ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เช่น การเลือกเมนูมังสวิรัติ หรือเมนูที่ใช้โปรตีนจากพืช

3. การจัดการ Food Waste อย่างมีประสิทธิภาพ กรณีที่จำนวนอาหารเหลือจากการจัดงาน อิมแพ็คฯ มีบริการจัดสรรแบ่งปันอาหารที่เหลือบริจาคให้แก่มูลนิธิต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมทั้งในประเทศรวมทั้งระดับนานาชาติ ​อิมแพ็คฯ ตระหนักถึงความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติที่ต้องสร้างความสมดุลทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) ผ่านการวางค่านิยมภายในองค์กร เพื่อให้ขับเคลื่อนตามกรอบดังกล่าว

ด้านสังคม ผ่านการว่าจ้างงานและใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างยุติธรรม เคารพความแตกต่างต่อโอกาสความเท่าเทียม การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เช่น โครงการกล้าไมซ์ สนับสนุนการศึกษาฝึกงานให้แก่นักศึกษา โครงการดูแลสุนัขจรจัดพื้นที่โครงการเมืองทองธานี เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การจัดซื้อที่โปร่งใสและสมเหตุสมผล การส่งเสริมนวัตกรรม เช่น โครงการอิมแพ็คฟาร์ม ทำหน้าที่ในการรับซื้อผักออร์แกนิกจากเกษตรกร มาจำหน่ายโดยตรงและใช้เป็นวัตถุดิบหลักในร้านอาหารเครืออิมแพ็ค เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้ยั่งยืน เป็นต้น

ด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะของเสีย การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้น้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการติดตั้ง Solar Roof รวม 3 อาคาร คือ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค ฟอรั่ม และอาคารจอดรถ 3 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี2565  รวมทั้งโครงการลดการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โครงการเปลี่ยนขยะอาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเครื่อง Food Waste Composter ในการรีดของเหลวส่วนเกินออกจากขยะเศษอาหาร แล้วนำเศษอาหารที่รีดน้ำออกไปทำเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี2564 เป็นต้น

“การเกิดวิกฤตอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งภัยธรรมชาติ โรคอุบัติใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าของสถานที่ ผู้จัดงาน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญในการจัดงานอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ขณะที่การขับเคลื่อนภายในของอิมแพ็คฯ ตลอดทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา สามารถแยกขยะจากอาคารจัดแสดงจากโครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แบ่งเป็นขวดพลาสติก 398 กิโลกรัม และลังกระดาษ 927 กิโลกรัม ขณะเดียวกันในมิติของการลดพลังงานสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้เกือบ  3 ล้านกิโลวัตต์  คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดลงได้มากกว่า 10 ล้านบาท รวมทั้งช่วยลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 5.2 ล้านกิโลคาร์บอน”​

Stay Connected
Latest News