‘ขวดพลาสติก = อิฐก่อสร้าง’ บราเดอร์ เปลี่ยนขยะเป็น Ecobricks สร้างอาคารอเนกประสงค์ให้โรงเรียน ช่วยเหลือเด็กขาดโอกาส

“พลาสอิฐ” หรือ “อีโค่บริกส์” (Ecobricks)  คือ การนำพลาสติกชิ้นเล็กๆ อาทิ ซองพลาสติก ถุงขนม หลอด เปลือกลูกอม ฯลฯ หรือกลุ่มขยะกำพร้าที่ไม่นิยมนำไปรีไซเคิล​มาบรรจุลงในขวดพลาสติกจนแน่น และทากาวให้ขวดติดกันเป็นบล็อก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัสดุก่อสร้างแทนก้อนอิฐ

การทำให้ Ecobricks ที่ผลิตขึ้นมามีคุณภาพดีและมีความแข็งแรงเมื่อนำไปใช้งานนั้น ก็มีหลักเกณฑ์สำคัญ เช่น การเลือกขวดที่มีลักษณะเหมือนกันและมีขนาดที่เท่ากัน รวมทั้งการใส่ขยะพลาสติกไปในขวดก็ต้องอัดให้แน่น และนำแต่ละขวดมาติดกันเป็นบล็อกด้วยกาวยางก่อนนำไปฉาบด้วยซีเมนต์

นอกจากช่วยลดต้นทุนเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อวัสดุก่อสร้าง​พร้อมช่วยยลดขยะพลาสติกจากชุมชนให้น้อยลงได้แล้ว ผนังที่ทำจากอีโค่บริกส์ยังมีคุณสมบัติสามารถเป็นฉนวนกันความร้อน ช่วยภายในอาคารที่สร้างจากอีโค่บริกส์มีอุณหภูมิต่ำกว่าอากาศข้างนอกอย่างมาก รวมทั้งยังสามารถเก็บเสียงได้ดีอีกด้วย

บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ​เล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs (Sustainable Development Goals) โดย​มุ่งมั่นให้การสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุวัตถุวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2050 ของบราเดอร์กรุ๊ป รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน จึงได้เข้ามาสนับสนุนการใช้อีโค่บริกส์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคม​ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น “สำนักงานสีเขียว” (Green Office) พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน​กิจกรรมการผลิตและสร้างศูนย์การเรียนรู้จากอีโค่บริกส์

โดย คุณธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ และ คุณพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานร่วมกันนำอีโค่บริกส์​กว่า 1,500 ชิ้น ไปส่งมอบสำหรับใช้สร้างอาคารเอนกประสงค์ให้โรงเรียนแบมบู จ.กาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเยาวชนไทยและพม่าผู้ด้อยโอกาส เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เพิ่มศักยภาพให้พร้อมเป็นกำลังคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งยังได้บริจาควัสดุก่อสร้างอื่นๆ ตลอดจนเงินบริจาค 20,000 บาทให้แก่โรงเรียนแบมบูเพื่อใช้ในการดำเนินงานอีกด้วย รวมทั้งจักรเย็บผ้าบราเดอร์เพื่อใช้ในการศึกษาและฝึกฝนวิชาชีพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนแบมบู

สำหรับโรงเรียนแบมบู จ.กาญจนบุรี ก่อตั้งโดย คุณครูแคทเธอรีน รูท ไรลีย์ ไบรอัน ครูชาวนิวซีแลนด์วัย 73 ปี  ซึ่งนับว่าเป็นทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และ  “บ้าน” สำหรับเด็กขาดโอกาสในชุมชนบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้ คุณครูแคทเธอรีน รูท ไรลีย์ ไบรอัน เล่าว่า ได้แรงบันดาลใจในการนำขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติกมาแปรรูปเป็นอีโค่บริกส์จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประโยชน์ของอีโค่บริกส์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและลดปริมาณขยะในชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคไข้มาลาเรียได้อีกด้วย เนื่องจาก ขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้เป็นที่วางไข่ของยุง การนำขยะขวดพลาสติกมาใช้ประโยชน์ถือเป็นการทำลายการแพร่พันธุ์ของยุงไปด้วย ทำให้ช่วยแก้ปัญหาการระบาดของไข้มาลาเรียได้ด้วย โดยปัจจุบันในพื้นที่ไม่มีผู้ป่วยไข้มาลาเรียมากว่า 4 ปีแล้ว จากช่วงที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ใหม่ๆ เมื่อราว 20 ปีก่อน มีการระบาดมากและจะพบผู้ป่วยไข้มาลาเรียทุกๆ เดือน

สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับอีโค่บริกส์ งานพัฒนาชุมชน หรือบริจาคทุนการศึกษาให้กับเด็ก ณ โรงเรียนแบมบู จ.กาญจนบุรี สามารถติดต่อได้ที่ www.facebook.com/catherine.rileybryan

Stay Connected
Latest News