เอสซีจี รับธุรกิจผ่านช่วงต่ำสุด กำไรร่วง 90% หันโฟกัสธุรกิจใหม่ ‘พลังงานสะอาด -สินค้ากรีน’ ตอบเทรนด์โลก ช่วยหนีวิกฤตซ้อนวิกฤต

จากการเปิดเผยผลประกอบในปีที่ผ่านมา เอสซีจียอมรับว่า ปี2565 ที่ผ่านมา เป็นจุดที่ต่ำสุดของธุรกิจในรอบ 14-15 ปี เพราะแม้รายได้ของธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ราว7% แต่กำไรกลับลดลลงอย่างมาก แม้จะเดินหน้าลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

โดยผลประกอบการทั้งปี เอสซีจีมีรายได้ 569,609 ล้านบาท ​ขณะที่มีกำไร 21,382 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขกำไรทั้งปี ลดลงจากเดิมเกินกว่าครึ่ง หรือ 55% แต่หากเทียบตัวเลขเฉพาะไตรมาสที่ 4 กำไรของบริษัทลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าถึงมากกว่า 90% เลยทีเดียว

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ปีที่ผ่านมาเป็นการเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งจากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ท้ังต้นทุนทางด้านพลังงาน รวมท้ังต้นทุนทางการเงินที่ไม่เคยเจอมาก่อนในรอบหลายปี รวมทั้งดีมานด์ในตลาดทั่วโลกที่หายไป ทั้งจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย รวมท้ังมาตรการเฝ้าระวังโควิดของประเทศจีน​ ประกอบกับวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางมรสุมนี้ ​เอสซีจียังมีความเชื่อว่าจะสามารถรักษาการเติบโตให้กับธุรกิจได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน จากกลุ่มธุริกจพลังงานสะอาด และสินค้าในกลุ่ม Green Business รวมท้ังการเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเท​ศ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางการเงินอย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความแข็งแรงทางการเงินเป็นอย่างดี ด้วยจำนวนกระแสเงินสดในธุรกิจมากกว่า 95,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เอสซีจีมีแผนลงทุนต่อเนื่องในปีนี้ ด้วยงบลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 50% จะใช้ในการลงทุนต่อเนื่องในเวียดนาม เพื่อให้สามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตสินค้าได้ภายในปีนี้ ขณะที่การขับเคลื่อนแต่ละ Business Unit ในปีนี้ มีทิศทางในการขับเคลื่อนดังนี้

​กลุ่มธุรกิจพลังงาน

คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่า ปัญหาวิกฤตพลังงานถือว่าค่อนข้างหนักในปีที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนพลังงานคาดว่าจะเป็นปัญหาในระยะยาว  ​แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสสำคัญสำหรับเอสซีจี จากการหันมาขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid ที่มีกำลังผลิต 234 เมกะวัตต์ สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง เชื่อมโยงพลังงานสะอาดระหว่าง 10 บริษัท ช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ 30%​ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 3,670 ตันคาร์บอน ​โดยปี 2565 เอสซีจีเพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทน 34% จาก 26% ในปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ยังมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ในปีก่อน ​ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization – CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 ​​

กลุ่มธุรกิจ Green Polymer 

คุณธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า​ บริษัทเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM” ต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดโลก มียอดขายกว่า 140,000 ตัน เติบโตกว่า 5 เท่า ในปีที่ผ่านมา​ พร้อมทั้งการขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยนำร่องก่อนในยุโรป ด้วยความพร้อมทั้งของวัตถุดิบ ดีมานด์ในตลาด รวมทั้งบริบททางกฏระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการเติบโต โดยบริษัทได้ลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras) ผู้นำด้าน Waste Management ของเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งในธุรกิจ Green Polymer ของโปรตุเกส เพื่อสามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมระดับโกลบอลมาปรับใช้ในภูมิภาคและในประเทศได้ในอนาคต

ทั้งนี้ SCGC วางทิศทางในการขับเคลื่อนนวัตกรรม 4 แนวทาง ได้แก่ Redcue เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้ แต่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ Recyclable การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น  Recycle การเข้ามาขับเคลื่อนในในธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล รวมทั้งการศึกษาแนวทางด้านRenewable Plastic อีกด้วย โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในการผลิต Green Polymer ให้ได้ถึง 1 ล้านตัน ภายในปี 2050

กลุ่ม Smart living 

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูง โดย คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จะโฟกัสด้านโซลูชั่นในการประหยัดพลังงานสำหรับกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง โดยในปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า​ 40%  อาทิ SCG Air Scrubber​ นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม หรือห้างสรรพสินค้า มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงานได้ถึง 20-30% ติดตั้งแล้ว 7 อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21 สาขาพัทยา, Kloud by Kbank สยามสแควร์  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะมีโครงการลงทุนขยายรุ่นสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้พัฒนา ​SCG Built-in Solar Tile​ นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับหลังคาบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ถึง 60% ซึ่งนอกจากฟังก์ชันด้านพลังงาน ยังตอบด้านความสวยง​ามอีกด้วย ​ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงจากจำนวนบ้านเรือนอยู่อาศัยที่มีหลายล้านหลังคาเรือน ​

 

สินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม

คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า​ SCGP กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง ตลอดจนมุ่งพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมการดำเนินงานด้าน ESG

Stay Connected
Latest News