‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ คืนน้ำสู่ธรรมชาติแล้ว 15 ล้าน ลบ.ม. เล็งขยายผลต่อในจีน และเวียดนาม พิชิตเป้าหมายใหญ่​สู่องค์กร ‘Net Water Positive’

ในฐานะบริษัทเครื่องดื่ม ซึ่งต้องใช้ ทรัพยากรน้ำ เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตแต่ละปีไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ภารกิจในการดูแลรักษาน้ำ จึงถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ กลุ่มธุรกิจ TCP

โดยเป้าหมายสูงสุด คือ การก้าวสู่องค์กรที่มีการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก หรือ Net Water Positive ทั้งน้ำในกระบวนการผลิต ที่ตั้งเป้าลดปริมาณการใช้ทรัพยากรน้ำให้น้อยลง รวมทั้งการเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในท้องถิ่นให้ได้ทั้ง 100% ภายในปี 2573

นำมาสู่การขับเคลื่อน โครงการTCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ที่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้งบประมาณในการดำเนินการตลอดโครงการที่ราว 100 ล้านบาท พร้อมวางเป้าหมายระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี หรือภายในสิ้นปี 2566 นี้ จะต้องคืนน้ำเข้าสู่ระบบธรรมชาติได้มากกว่า 3 เท่า ของน้ำที่ TCP ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อก้าวสู่องค์กร Net Water Positive รวมทั้งได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระดับสากล ตามมาตรฐาน AWS (Alliance for Water Stewardship) ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นบริษัทเครื่องดื่มของคนไทยรายแรกที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว

คุณอรัญญา ลือประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP ​ กล่าวถึงความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ​ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย โดยเฉพาะการคืนน้ำเข้าสู่ระบบตามธรรมชาติ ที่ปัจจุบันทำได้แล้วกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ​​พร้อมทั้งการเข้าไปสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับ 7 จังหวัด ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง และมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการแล้วมากกว่า 4 หมื่นครัวเรือน พร้อมมีการประเมินเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการขับเคลื่อนโครงการได้กว่า 75 ล้านบาท

“การขับเคลื่อนโครงการตลอด 5 ปีที่ผ่านมา TCP ได้ร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. สถาบันวิจับทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เพื่อแก้ไขทั้งน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน รวมทั้งมีการพัฒนาในรูปแบบทั้งลุ่มน้ำ ใน 3 ลุ่มน้ำ ทั้งลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง เพื่อสามารถบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการบริหารจัดการให้ชุมชนมีน้ำกิน น้ำใช้ ได้ตลอดทั้งปี พร้อมทั้งเพียงพอต่อการทำการเกษตร และต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ รวมทั้งมีความแข็งแรงในเชิงเศรษฐกิจ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน​ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาออย่างยั่งยืนขององค์กร”​

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการ ทั้งจากการได้พันธมิตรที่ดี มีความเชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาเรื่องน้ำ รวมทั้งให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำต่างๆ ​โดยมีความร่วมมือร่วมใจ และการลงแรงจากผู้คนในชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน  ขณะที่ทาง TCP จะเข้ามาช่วยเสริมในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของชุมชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณ และอุปกรณ์ต่างๆ

ทำให้แต่ละชุมชนที่อยู่ในโครงการไม่เพียงมีน้ำกิน น้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน และเพียงพอต่อการทำการเกษตรแล้ว แต่ยังสามารถ​ช่วยยุติความขัดแย้งของคนในชุมชนที่เคยกระทบกระทั่งกันเรื่องการแย่งน้ำที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านมีความรักใคร่สามัคคี พึ่งพอาศัยกันมากขึ้น รวมทั้งยังต่อยอดไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ หรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ชุมชนเพิ่มเติมได้ เช่น การมีผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน หรือการต่อยอดในเรื่องของการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วประเทศ ให้มาท่องเที่ยวในพื้นที่  เป็นต้น

ตัวอย่างความสำเร็จ การจัดการน้ำ ‘ลุ่มน้ำยม’

หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของการประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ. แพร่ จากการทำงานที่เริ่มต้นวางแผนและลงมือทำโดยชุมชน เสริมด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปให้ความรู้ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ทำให้เกิดการทำงานที่มีระบบและเป็นรูปธรรม จนปัจจุบันสามารถพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างมั่นคง จะเห็นได้ว่าความสำเร็จไม่ได้มีเพียงเรื่องการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก สร้างความสามัคคี เกิดกลุ่มอาชีพ และการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์

คุณวีฤทธิ์ กวยะปาณิก ศูนย์บริหารจัดการน้ำ จ. แพร่ กล่าวว่า การพัฒนาลุ่มน้ำยม ใช้แนวทาง “ฟื้นฟูป่า-พัฒนาน้ำ-ทำเกษตรแบบ Smart Farmer” โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้พื้นที่ต่างๆ ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำเข้าไปช่วยรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติเกิดเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ส่งต่อองค์ความรู้ แจ้งเตือนข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรและการจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาพอากาศและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ในปีที่แล้ว พื้นที่นี้ไม่ได้รับผลกระทบหนักจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนเป็นหลักในการขับเคลื่อน สามารถวางแผนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบโครงสร้างแหล่งน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มความมั่นคงทางการเกษตรและเศรษฐกิจชุมชน

ด้าน ผู้ใหญ่อัจฉริยะ ปันฟอง ผู้ใหญ่บ้านแม่ขมิง หมู่ 2 จ. แพร่ เล่าว่า ​แต่เดิมแพร่มีปัญหาทั้งน้ำหลากน้ำแล้งในพื้นที่เดียวกัน ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ปัจจุบัน เรามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าต้นทุนน้ำที่ชุมชนต้องการ สร้างผลผลิตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถนำไปแปรรูปและเพิ่มมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายๆ ครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากกการเกษตรได้ถึง 8,000 – 15,000 บาท/เดือน ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน​ และในอนาคตจะสามารถต่อยอดพื้นที่​ให้กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวได้ ทั้งจากความสวยงามตามธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

เล็งต่อยอดโมเดลจัดการน้ำสู่จีน เวียดนาม

จากความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการ​ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ในประเทศไทย กลุ่ม TCP มองแนวทางในการขยายโมเดลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดไปสู่ทั้งในจีน และในเวียดนามในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการขับเคลื่อน​ ตั้งแต่การเข้าไปศึกษาปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ลักษณะของพื้นที่และเส้นทางน้ำต่างๆ ตลอดจนลักษณะและความต้องการของผู้คนและชุมชน เพื่อสามารถพออกแบบโครงการได้อย่างเหมาะสม

ขณะที่การต่อยอดในประเทศไทย จะขยายผลความสำเร็จเพิ่มเติมในเชิงลึก ในส่วนของลุ่มน้ำบางปะกง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีน สระแก้ว และนครนายก ​ควบคู่ไปกับอีก 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร และลุ่มน้ำโขง ในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของผู้คนในพื้นที่​ให้เพิ่มมากขึ้น จากการมีน้ำกิน น้ำใช้สำหรับการทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ​​​

ท้ังนี้ แนวทางบริหารจัดการน้ำ เป็น 1 ใน 4 กรอบ ตามแนวทางในการขับเคลื่อน ไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้แบบ 360 องศา ของ TCP  ซึ่งประกอบด้วย

Product Excellence ในมิติของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้คน

Circular Economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า

Carbon Neutrality เพื่อร่วมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ และสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งจากกระบวนการทำงานทั้งในประเทศไทย รวมทั้งในต่างประเทศ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในจีนและเวียดนาม

และ Water Sustainability  ที่มีเป้าหมายสู่องค์กร Net Water Positive เพื่อคืนน้ำสู่ธรรมชาติให้มากกว่าที่ใช้ ทั้งในประเทศไทย จีน และเวียดนาม

Stay Connected
Latest News