ส่อง 12 แบรนด์ Dirty Zone 2023 แชมป์สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในอังกฤษ​ ‘Coca-Cola’ คว้าแชมป์ 4 ปีต่อเนื่อง

โคคา – โคลา (Coca-Cola) คว้าแชมป์แบรนด์ Dirty Zone 2023 ถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติก อันดับที่ 1 ใน​ UK รั้งแชมป์เป็นปีที่ 4 ต่อเนื่อง ตลอดการจัดทำรายงานทั้ง 4 ปี

จากการเปิดเผยข้อมูล Brand Audit ของกลุ่ม SAS หรือ The Surfers Against Sewage ซึ่งเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์อาสาสมัครที่ริเริ่มทำการรวบรวม บันทึก และรายงาน สิ่งที่พวกเขาค้นพบจากโครงการ Million Mile Clean ที่ระดมอาสาสมัครเพื่อร่วมทำความสะอาดพื้นที่สีเขียวและสีฟ้าในธรรมชาติ อาทิ ทะเล แหล่งน้ำ ภูเขา น้ำตก และตามท้องถนนทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

โดยปี  2023  นี้ มีอาสาสมัครกว่า 4,240 ราย มาเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะทั้งจากชายหาด ในทะเล แหล่งน้ำ ในป่า รวมทั้งตามท้องถนน ซึ่งในปีนี้ สามารถเก็บขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า 30,000 ชิ้น จากกว่า 327 แบรนด์ โดย 36% หรือกว่า 11,000 ชิ้น สามารถระบุหรือทราบได้ว่าเป็นของแบรนด์ใด ขณะที่อีก 64% หรือกว่า 20,000 ชิ้น ไม่สามารถระบุแบรนด์ได้

ทั้งนี้ พบว่าปริมาณขยะจากทะเล และชายหาดรวมกว่า 19,000 ชิ้น จากการทำความสะอาดท้องถนน 63 แห่ง พบขยะเกือบ 4,000 ชิ้น และจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติและทะเลสาบรวมกว่า 3,500 ชิ้น

นอกจากนี้  SAS ยังได้เปิดเผยข้อมูล Dirty Zone 2023  จากการคัดแยกจากปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถระบุแบรนด์ได้ (ขยะบรรจุภัณฑ์) ซึ่งในปีนี้ ขยะมากกว่า 70% ที่เก็บได้มาจาก 12  แบรนด์ชื่อดังในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสะท้อนไปยังแบรนด์ในการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง ขยะจากแบรนด์ที่พบได้มากที่สุดคือ โคคา-โคลา ซึ่งถูกพบเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันตลอดทั้ง 4 ปี ของการจัดกิจกรรม  โดยรายละเอียดของทั้ง 12 แบรนด์ มีดังนี้

1. The Coca-Cola Company (โคคา-โคลา) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 1,820 ชิ้น และจากการจัดกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2019 พบขยะมาแล้วกว่า 7,000 ขิ้น ทั้งจากขวด ฝา และกระป๋อง โดยมีข้อมูลว่าในแต่ละปี โคคา- โคลา จะใช้พลาสติกสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ราว 3.2 ล้านตัน

2. McDonald’s (แมคโดนัลด์) ​พบขยะในปีนี้จำนวน​ 1,220 ชิ้น

3. PepsiCo (เป๊ปซี่โค) ​พบขยะในปีนี้จำนวน976 ชิ้น

4. Mondelez International (มอนเดลีซ) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 777 ชิ้น
5. Anheuser-Busch InBev หรือ AB InBev  (เอบีอินเบฟ) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 628 ชิ้น
6.  Tesco PLC  (เทสโก้)  ​พบขยะในปีนี้จำนวน 408 ชิ้น
7. Haribo (ฮารีโบ) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 389 ชิ้น
8. Nestle (เนสท์เล่)  ​พบขยะในปีนี้จำนวน 381 ชิ้น
9. Mars, Incorporated (มาร์ส)  ​พบขยะในปีนี้จำนวน 303 ชิ้น
10. Heineken Holding (ไฮเนเก้น) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 294 ชิ้น
11. Carlsberg Group  (คาร์ลสเบอร์ก) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 260 ชิ้น
12. Red Bull GmbH (เรดบูบ) ​พบขยะในปีนี้จำนวน 227 ชิ้น

SAS ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากขยะพลาสติกจากบรรดาขยะจากครัวเรือนแล้ว ในมหาสมุทรยังพบอุปกรณ์ประมงถูกทิ้งในทะเล เป็นขยะสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่เป็นปัญหา โดยในปีนี้ยังพบปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าอีกด้วย จากปริมาณ 1,481 ชิ้น ในปี 2022 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 3,516 ชิ้นในปี 2023 นี้ ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่เพียงสร้างมลพิษในทะเล แต่ยังเป็นอันตรายต่อบรรดาสัตว์น้ำอีกด้วย

Stay Connected
Latest News