ต้นกล้าเขียว สุริยา ดวงศรี :ผู้สร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนหนองอียอ

มูลนิธิเอสซีจี ขับเคลื่อนการทำงานโดยมุ่งเน้นการพัฒนา “คน” มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการร่วมทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับภาคประชาสังคมร่วมกับผู้นำชุมชนมาโดยตลอด และที่ผ่านมาพบว่า การพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนไปด้วยความลำบาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง มูลนิธิเอสซีจีจึงได้เริ่ม “โครงการต้นกล้าชุมชน” ขึ้นในปี 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต และหยั่งรากลึกบนผืนดินท้องถิ่นของตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนาที่มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนอย่างใกล้ชิดทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี

 

สิ่งที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนั้น อาจจะมีหลากหลายแนวทางเป็นองค์ประกอบ และหนึ่งในนั้น คือ “การศึกษา” เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคน ทั้งทางด้านความคิด และจิตใจให้มีความพร้อมสมบูรณ์เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงาน และการดำรงชีวิตในอนาคต เป็นสิ่งที่ “ต้นกล้าเขียว-สุริยา ดวงศรี” ต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 2 ของมูลนิธิเอสซีจี ได้ตระหนักดีในเรื่องเหล่านี้ดีตั้งแต่ในวัยเด็ก หรือแม้กระทั่งเขากลับมาอยู่บ้าน ก็ได้ทำงานพัฒนาชุมชนด้วยการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาร่วมกับเด็กๆ และคนในท้องถิ่น

 

**จากครอบครัวยากจน สู่การดิ้นรนเพื่อเรียนต่อ**

เพราะในช่วงชีวิตที่ผ่านมาในวัยเด็กของเขาต่างต้องดิ้นรน ทำงานหาเงิน เพื่อส่งตัวเองเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือจนกระทั่งเข้ามาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพ เขาก็ยังทำงานซ่อมจักรเย็บผ้ากับพี่ชาย ที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง โดย “ต้นกล้าเขียว” เล่าให้ฟังว่า เป็นลูกคนที่ 5 ของครอบครัว เมื่ออายุได้ 4 เดือนพ่อก็มาเสียชีวิต ทำให้ชีวิตในวัยเด็กตั้งแต่จำความได้ ต้องช่วยเหลือแม่ ด้วยการเก็บผักขาย

 

“เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยฐานะของครอบครัวจึงไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ แต่ด้วยความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน อยากเรียนต่อในระดับสูง พี่เขยเห็นถึงความตั้งใจจึงส่งผมเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3และด้วยความที่ตัวเองเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เริ่มมีกำลังในการทำงานมากขึ้น เลยคิดว่าจะส่งตัวเรียน โดยการรับจ้างดำนา ทำการเกษตร ซึ่งตอนนั้นถือว่าได้เงินเยอะมาก จนในที่สุดก็จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และช่วงนั้นถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตที่สำคัญ”

 

ด้วยความที่ “ต้นกล้าเขียว” ต้องการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นอีก จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในสาขาวิทยาการคอมพิเวเตอร์ เพราะมองเห็นว่า ด้วยพื้นฐานตัวเองมีความชื่นชอบ มีความสนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทั้งยังชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง จึงสมัครเข้าเรียนในสาขานี้

 

“เมื่อเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ ผมเข้ามาอยู่กับพี่ที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเขาเปิดร้านซ่อมจักรเย็บผ้า โดยระหว่างเรียนนั้นผมก็ทำงานซ่อมจักรเย็บผ้าเป็นรายได้เสริมควบคู่กันไประหว่างเรียน แต่ด้วยสิ่งเร้าต่างๆ มากมาย ทั้งความอยากรู้ อยากลอง และด้วยเงินที่ได้จากการทำงานที่มากโข จึงถูกนำไปใช้เที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง จนนำมาสู่วิกฤตในชีวิต ทั้งเรื่องเพื่อน ปัญหาครอบครัว ตลอดจนเรื่องการเรียนของตัวเอง ที่มีปัญหาเรียนที่ไม่ได้เรื่องอยู่แล้ว ทำให้ในที่สุดเรียนไม่จบปริญญาตรี”

 

“ในตอนนั้นปัญหาเข้ามาหนักมาก และเมื่อผมไม่มีที่พึ่ง คิดไม่ออกแล้ว สิ่งที่หนึ่งที่ฉุกคิดได้ตอนนั้นคือ “แม่” และ “ครอบครัว” ผมจึงตัดสินใจที่จะกลับบ้าน”

 

**หันหลังกลับบ้าน หันหน้าสู่งานพัฒนาชุมชน**

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ด้วยว่าบริบทของชุมชน และครอบครัวที่ทำอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม แต่ในตอนนั้น ผมยอมรับตรงๆ เลยว่าไม่รู่ว่าจะทำอะไรต่อ คิดอะไรไม่ออกเลย จนวันหนึ่งด้วยความที่บ้านใกล้วัด จึงเดินเข้าไปคุยกับหลวงพี่ในวัด ซึ่งท่านได้พูดคุยกับผม สั่งสอนอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ผมคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว จะกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้

 

“ในช่วงนั้น ทาง อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ จ.สุรินทร์) มีแนวคิดที่จะทำโครงการเกี่ยวกับเยาวชน โดยมีพี่ “สมเกียรติ สาระ” หัวหน้าสำนักปลัดซึ่งต่อมาได้เป็นพี่เลี้ยงต้นกล้าชุมชนของผม ได้มาชักชวนไปร่วมทำกิจกรรม และตอนนั้นผมยอมรับเลยว่าการที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับเยาวชนผมไม่ได้คิดอะไร เพียงแค่อยากรู้ว่าเขาต้องการอะไรจากพวกเรา และพวกเราก็คงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงที่พวกเขาอยากได้ แต่ความคิดผมต้องเปลี่ยนไปมาก หลังจากที่ไปเข้าค่ายอบรม เพราะกระบวนการในกิจกรรมต่างๆ ทำให้ผมได้คิดในหลายๆ เรื่อง และมองชุมชนในมิติอื่นๆ ว่าชุมชนของเรามีอะไรดี และเราจะเข้าไปส่วนช่วยในการขับเคลื่อนและยกระดับได้อย่างไร”

 

หลังจากกลับจากค่ายในครั้งนั้น เขียวคิด และตัดสินใจว่า เมื่อจะกลับมาอยู่บ้านแล้ว เลยคิดว่าจะลองร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับเยาวชนกับทาง อบต.จึงเข้าไปคุยกับพี่สมเกียรติอีกครั้ง ถึงแนวทาง และเป้าหมายการทำงาน จนได้แนวคิดว่า จะร่วมกันสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เด็กเยาวชน จนในที่สุดเขียวกลายมาเป็นแกนนำในการทำงานเกี่ยวกับเยาวชน

 

กิจกรรมบางส่วนกับเยาวชนในพื้นที่

 

“ในตอนนั้นเราเริ่มวางแผนการทำงาน โดยอันดับแรกคือ ต้องรวมกลุ่ม สร้างกลุ่มเยาวชนให้เกิดขึ้น เพื่อให้มีโครงสร้างการทำงานชัดเจน จึงได้เชิญชวนเยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ มาพูดคุยกันที่ อบต. แต่กลับมีเด็กเยาวชนเพียง 5-6 คนที่มาร่วมพูดคุย ทำให้ไม่สามารถพูดคุยกำหนดทิศทางการทำงาน การรวมกลุ่มอะไรได้เลย แต่ก็เดินหน้าต่ออย่างมีเป้าหมาย”

 

**เรียนรู้ต่อยอด พัฒนาสู่โรงเรียนครอบครัว**

จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้มีการปรับแผนแนวทางการทำงานใหม่ โดยลงพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน ผ่านการประสานงานกับผู้นำชุมชน อบต.ให้เป็นตัวเชื่อมในพื้นที่ ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้ง มีทั้งเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่มาร่วมกันพูดคุยเป็นจำนวนมาก

 

หลังจากลงพื้นที่พูดคุยร่วมกัน ทำให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ “การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้” โดยมุ่งเน้นเรื่องของอาชีพเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่าเป้าหมายเริ่มลดน้อยถอยลง ไม่มีความยั่งยืน เพราะเงินที่ได้จากการขายผลผลิตถูกนำไปใช้ และหมดไป

 

“ตรงนี้ เราจึงมาร่วมกันพูดคุย เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ และในตอนนั้นได้มีการเชิญชวนเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำแนะนำ จนในที่สุดตกผลึกความคิดร่วมกันจนออกมาเป็น “โรงเรียนครอบครัว” ที่รวบรวมเอากิจกรรมที่เราได้ทำมาในอดีตมาขับเคลื่อนด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้”

 

อีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำงานร่วมกับเครือข่าย

 

“ต้นกล้าเขียว” กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกิจกรรมในโรงเรียนครอบครัว จะประกอบด้วย วิชาชีพ วิชาชีวิต วิชาชุมชน และวิชาการ โดยอ้างอิงกับบริบทชุมชน วิถีชีวิตชุมชนให้มากที่สุด เพราะกลุ่มของเรามีทั้งบ้าน วัด โรงเรียนที่เข้ามาเชื่อมร้อยกันเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริง

 

“เมื่อผมได้ทำงาน ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนและชุมชน ทำให้เห็นคุณค่าของตัวเอง และมีความสุขในการทำงาน เพราะผมได้กลับมาอยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว และมีความหวังว่าจะอยู่กับชุมชนได้อย่างไร ซึ่งก่อนหน้าผมอาจจะคิดอีกแบบแต่ตอนนี้ถือว่าผมมีเป้าหมายชัดเจน ชอบเรื่องเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีหลักของครอบครัว ทั้งยังเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่สำคัญมีความรักในชุมชน บ้านเกิดเมืองนอน”

 

**ต้นกล้าชุมชน มูลนิธิเอสซีจีเสริมการทำงานชุมชน**

“ต้นกล้าเขียว” บอกว่า ตัวเองมีโอกาสได้รู้จักโครงการต้นกล้าชุมชน ของมูลเอสซีจีผ่านการหาข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือ สนับสนุนงบประมาณขององค์กรต่างๆ เพื่อมาใช้ทำงานในชุมชน ซึ่งแนวทางของโครงการต้นกล้าชุมชนเน้นการสร้างเยาวชนให้เติบโตในชุมชนของตัวเอง ถือว่าตรงกับแนวทางของเขียว

 

“ตอนนั้นผมลองส่งใบสมัครดู โดยส่ง “โครงการครอบครัวหนองอียอ จ.สุรินทร์” เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เด็กเยาวชนมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนในจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน 4 ด้าน คือ วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน วิชาการ ซึ่งตอนนั้นผมไม่คิดว่าจะได้รับคัดเลือก เพราะเป็นโครงการระดับประเทศ จนถึงวันประกาศชื่อออกมา ผมผ่านการคัดเลือก ซึ่งโครงการนี้ถือว่าช่วยสนับสนุนการทำงานของผมเป็นอย่างมาก ทั้งการทำงานกับชุมชนและการดำรงชีวิต ซึ่งแตกต่างกับหลายหน่วยงานที่สนับสนุนมุ่งให้เกิดงาน แต่ไม่ได้สนับสนุนปัจจัยให้กับคนทำงานอย่างมูลนิธิเอสซีจี”

 

การที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นกล้าชุมชน ทำให้การทำงานต่างๆ ในพื้นที่มีความยากขึ้น หรือทำตามมีตามเกิด มีความลื่นไหลมากกว่าเดิม เพราะทางมูลนิธิเอสซีจีได้สนับสนุนงบประมาณในการทำงาน ทั้งยังมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะการมีเครื่องมือในการทำงานเชิงพื้นที่มีความชัดเจน และยังมีกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง

 

 

 

ร่วมกับเยาวชนในถิ่นกำเนิด ส่งเสริมสุขภาพ และร่วมพัฒนาพื้นที่

 

ที่สำคัญโครงการต้นกล้าชุมชนได้สอนให้ผมรู้จักคำว่า “ผลิตภัณฑ์” และการย้อนมองหรือค้นหาต้นทุน ศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่ ที่จะสามารถพัฒนาออกมาป็นสินค้าหรือบริการต่างๆ ตลอดจน“การสร้างแบรนด์” ที่สื่อถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่ใช่ที่เป็นเพียงแค่โลโก้เท่านั้น

 

ทั้งนี้ “ต้นกล้าเขียว” สะท้อนให้ฟังว่า การที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนได้นั้นควรจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1.“ใจ” ต้องมั่นคงว่าคิดอะไร จะทำอะไร
2.“กระบวนการเรียนรู้”รู้บริบทชุมชนในทุกมิติ
3.“การหาเครื่องมือ” โดยเฉพาะองค์ความรู้ภายนอก เพื่อนำมาปรับใช้ในชุมชน
4.“การรู้จักเครือข่าย” ในการทำงานต้องมีองค์กร ภาคีร่วมเพื่อให้งานที่จะทำเดินได้จริง
5.“กำลังใจ” เป็นสิ่งที่ต้องมี
6.“ที่ปรึกษา”ที่คอยให้คำแนะนำ เพราะการทำงานกับชุมชนมีความท้าทายต่างๆ ที่รอให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอ

 

เช่นเดียวกับเส้นทางการศึกษา การเรียนรู้ของ “ต้นกล้าเขียว” ที่แม้ว่าจะมีอุปสรรคความท้าทายเพียงใด แต่เขายังมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ตัวเขาเอง แต่เขายังมองไปสู่ชุมชนที่อยู่รอบข้าง ปัจจุบันนี้ “ต้นกล้าเขียว” กำลังศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์อีกด้วย

 

มูลนิธิเอสซีจี ร่วมสร้างนักพัฒนา ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน…

Stay Connected
Latest News