ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้า “เซ็นทรัล”​ กับแนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กร​

เราอาจเห็นการขับเคลื่อนธุรกิจของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ของประเทศในเครือ “เซ็นทรัล” อยู่บ่อยครั้ง โดยล่าสุดในปีนี้ ซีพีเอ็นได้ออกมาประกาศวิสัยทัศน์สู่การเป็น “Retail-Led Mixed-Use Development” เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจอสังหาแบบผสม (Mixed-use Development) หรือ มิกซ์ยูส

คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอ็น ให้ข้อมูลว่า วิสัยทัศน์ดังกล่าวจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้ง  4 ธุรกิจหลักที่มีอยู่ ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม เพื่อตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มอสังหา โดยมีธุรกิจศูนย์การค้าเป็นแกนกลางในการพัฒนา ผ่านกลยุทธ์​ Retail-Led เพื่อพัฒนาตามแนวทาง ต่อไปนี้ 1. Develop District การพัฒนาผ่านย่านและเมืองที่มีศักยภาพทั่วประเทศ  2. Strong Synergy & Ecosystem ผ่านการเชื่อมโยงกันของ 4 กลุ่มธุรกิจของซีพีเอ็น และการผนึกธุรกิจในเครือเซ็นทรัลกรุ้ป  3. Community at Heart การสร้างความเข้าใจและร่วมมือขึ้นภายในชุมชน ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ​ เพื่อสร้างให้เกิดการกระจายรายได้และเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบ

โดยทั้ง 4 ธุรกิจ จะสามารถเติบโตไปด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้าง Sustainable Ecosystem และยังมีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจเองได้อย่างมีอิสระ ​ซึ่งทางซีพีเอ็นเตรียมเม็ดเงินสำหรับการลงทุนตลอด 5 ปีข้างหน้าไว้กว่า 1.2 แสนล้าน เพื่อ​ขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 30 จังหวัดทั่วประเทศ​ ภายใต้โครงการจากทุกธุรกิจของซีพีเอ็นรวมกันกว่า 180 โครงการ ซึ่งในนี้จะเป็นศูนย์การค้า “เซ็นทรัล”​ ที่เราคุ้นเคยกันดีรวมอยู่ 50 แห่ง

วางแนวทางสู่ความยั่งยืน 

ไม่ใช่เพียงความเป็นผู้นำในแง่ Business Performance เท่านั้น แต่ในมุมการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน ​โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม​ ซีพีเอ็นก็ให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่ได้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก รวมทั้งการนำมาตรฐานต่างๆ มาเป็นกรอบในการวางแผนด้านความยั่งยืน อาทิ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาตรฐานการจัดการก๊าซเรือนกระจก (ISO 14064-1)  มาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน (ISO 50001) และแนวทางการบริหารจัดการ​อาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมาตรฐานอาคารเขียวในระดับนานาชาติ (LEED : Leadership in Energy & Environmental Design) 

โดยมีเป้าหมายใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการใช้ทรัพยากรทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์  การนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียน การลดปริมาณขยะฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมวางแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินงานใน  7 แกนหลัก ต่อไปนี้ 1. การบริหารจัดการการใช้พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  2. การบริหารจัดการน้ำและน้ำทิ้ง 3. การบริหารจัดการขยะและของเสีย 4. การบริหารจัดการคุณภาพอากาศ  5. การบริหารจัดการอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building) 6. การบริหารเกี่ยวกับระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ  และ 7. การพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน

พร้อมทั้งได้วางเป้าหมายในช่วง 3 ปี และแนวทางดำเนินงานในแต่ละมิติ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งซีพีเอ็นได้เริ่มทำไว้แล้ว ​เช่น

– ลดสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อ 1 หน่วยพื้นที่ลง 20%  ภายในปี 2568  จากฐานในปี 2558  โดยช่วงปี 2558 -2562  สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากมาตราการต่างๆ ได้ กว่า 56,010 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (รวมแบบสะสม) ​หรือลดการใช้ไฟสะสมได้ 14.7%  ​และยังคงติดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าและให้ความสำคัญกับมาตรการด้านพลังงานต่างๆ ที่ได้วางแผนไว้

– ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานลง  20%  ภายในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558 รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์องค์กร ของศูนย์การค้าภายใต้การดูแลทั้งหมด

– กำหนดเป้าหมายในการใช้น้ำซ้ำ 5%  ของการใช้น้ำทั้งหมด และเพิ่มเป็น​ 20% ภายในปี 2568 โดยได้ติดตั้งระบบผลิตน้ำรีไซเคิลภายในศูนย์การค้าเพิ่มเติม รวมทั้งมีมาตรการปรับปรุงระบบ​ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีปริมาณน้ำรีไซเคิลมาใช้ได้เพิ่มมากขึ้น

– ลดปริมาณขยะฝังกลบลง​ให้ได้ถึง 50%  (Diversion Rate) ภายในปี 2568 ขณะที่ปี  2564 มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะฝังกลบ 15% จากปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2564  ผ่านการดำเนินโครงการ Journey to Zero ที่เริ่มในปี  2563 เพื่อคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้สามารถลดปริมาณขยะฝังกลบลง 4,119 ตัน หรือ 8% ของปริมาณขยะทั้งหมด ถือเป็นอัตราการแยกขยะที่ดี 60%  จากปี 2562

– ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บนหลังคาอาคารเพิ่มเติม โดยในปี 2563 ​ได้ทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโครงการรวมทั้งสิ้น 16 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟ 12,566 เมกะวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39% หรือประมาณ 1.6% ของพลังงานทั้งหมด

– ขอการรรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เพิ่มเติมเพื่อให้ศูนย์การค้าของซีพีเอ็นทุกแห่งเป็นไปตามมาตรฐาน

Stay Connected
Latest News