เกาหลีใต้ปรับเปลี่ยนระบบการติดฉลากวันหมดอายุ ลดปริมาณขยะอาหาร

เกาหลีใต้ ประกาศปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการติดฉลากวันหมดอายุสินค้า เป็นครั้งแรกในรอบ 38 ปี โดยเริ่มกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าว เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อต้องการลดปริมาณขยะอาหาร ซึ่งตามกฏหมายใหม่ กำหนดให้สินค้าในกลุ่มอาหารปรับเปลี่ยนการระบุวันในฉลาก จากระยะเวลาในการขาย หรือ  ‘Sell-by’ dates หรือการแจ้งวันที่ที่ทางผู้ขายต้องนำผลิตภัณฑ์ออกจากชั้นวางสินค้า มาเป็นการระบุวันที่ต้องใช้ หรือ ‘Use-by’ dates​ ซึ่งเป็นการแจ้งวันที่ผู้บริโภคยังคงสามารถบริโภคสินค้านั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขว่า สินค้าต้องถูกเก็บอยู่ในข้อกำหนดที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขที่แนะนำ

ร่างพระราชบัญญัติการติดฉลากอาหารและการโฆษณาฉบับแก้ไข (The food labeling and advertising act) ได้ผ่านการพิจารณามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ฉลากสินค้าในกลุ่มอาหารเปลี่ยนวิธีการแสดงวันที่บนฉลากเพื่อเพิ่มอายุการวางขายสินค้าและเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก การระบุ​ ‘Sell-by’ dates จะสะท้อนระยะเวลาเพียง 60-70% ของช่วงเวลาที่ผู้บริโภคยังสามารถบริโภคสินค้านั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย ขณะที่การแสดง ‘Use-by’ dates จะเพิ่มระยะเวลาได้มากถึง 80-90% ของช่วงเวลาดังกล่าว และการปรับปรุงกฎหมายนี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคมักจะทิ้งผลิตภัณฑ์อาหารทันที หลังจากผ่านวันหมดอายุตามที่ติดไว้บนฉลากสินค้า

ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ อย่าง Oh Yu-kyoung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของเกาหลีใต้ กล่าวว่า ระบบการติดฉลากแบบใหม่ที่จะเริ่มมีการบังคับใช้ภายในปีหน้า จะช่วยสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน จากการลดปริมาณขยะอาหาร ในโอกาสพบปะตัวแทน และผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรม ซึ่งบางรายได้มีความเห็นว่า ในระยะเวลาในการเริ่มบังคับใช้นั้นไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากบริษัทต่างๆ จะต้องบรรจุหีบห่อของสต็อกที่เหลือทั้งหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้ามาจากต่างประเทศ จะมาถึงเกาหลีในเดือนมกราคม แต่ผลิตตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ทำให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดิมในระหว่างการผลิต แต่จะต้องถูกบังคับใช้กฎหมายใหม่เมื่อมาถึงเกาหลี

โดยทางการตัดสินใจขยายระยะเวลาในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันเริ่มบังคับใช้ข้อกฎหมายใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้เวลาทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการติดฉลากใหม่นี้ได้

source 

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม