กทม. ชวน ‘เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน’ คิกออฟ “ไม่เทรวม” เปิดตัวรถขยะแยกถัง นำร่อง 3 พื้นที่ ก่อนขยายผลครบ 47 เขต

Pain point ที่ทำให้การแยกขยะของประชาชนไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะความเชื่อว่า แม้จะแยกขยะไปแล้ว แต่สุดท้าย กทม. ก็เอาไปเทรวมกันในรถขยะอยู่ดี  จึงไม่รู้จะแยกไปทำไม และส่งผลให้การรณรงค์พฤติกรรมแยกขยะของคนไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ขณะที่ต้องเสียงบประมาณ ทั้งการศึกษาและการบริการจัดการเกี่ยวกับการจัดการขยะ ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล รวมท้ังหากสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ แยกขยะเปียกที่เน่าเหม็นออกจากขยะแห้งทั่วไป​ ก็จะสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่ได้สะดวกขึ้น ก็จะทำให้ขยะมีคุณค่าขึ้นมาทันที

เป็นที่มาของการคิกออฟโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ของทาง กทม. เพื่อชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมเปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน ด้วยการแยก “ขยะเศษอาหาร” ออกจาก “ขยะทั่วไป” ตามนโยบายของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างต้นแบบการแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งสามารถลดปริมาณการเกิดขยะในภาพรวมได้ด้วย

พร้อมทั้งการเปิดตัวรถขยะแบบใหม่ที่มีพื้นที่จัดเก็บเศษอาหาร 2 ประเภท ได้แก่ รถอัดท้ายที่ต่อเติมส่วนจัดเก็บขยะเศษอาหาร และรถขยะเปิดข้างเพื่อจัดเก็บขยะเศษอาหาร เพื่อแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ช่วยลดปัญหาน้ำชะขยะ กลิ่นขยะระหว่างการเก็บรวบรวมและการกำจัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า โดยจะออกวิ่งรับขยะที่ไม่เทรวม​​นำร่องก่อนใน 3 เขตพื้นที่ ได้แก่  เขตปทุมวัน เขตพญาไท และ เขตหนองแขม ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวแทน ทั้งเขตกลางเมือง ใกล้เมือง และไกลเมือง ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งชุมชน ตลาดสด และออฟฟิศ คอนโดฯ เพื่อสร้างแบบจำลองในการบริหารจัดการ หรือเป็น Prototype (ต้นแบบ) สำหรับศึกษาและประเมินผล ก่อนจะขยายผลต่อให้ครบทั้ง 47 ​เขต

“ถ้าแก้ปัญหาเรื่องขยะได้ จะช่วยทั้งการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก สภาพแวดล้อม ต้นทุนการจัดเก็บ และความยั่งยืนของเมือง เพราะหากแยกขยะแล้วค่าใช้จ่ายลดลง​ ก็จะสามารถนำเงินงบประมาณตรงนี้ไปช่วยเหลือเด็ก หรือผู้สูงอายุได้อีก ซึ่ง​แนวคิดการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สินมีการขับเคลื่อนกันทั่วทั้งโลกแล้ว”

ในส่วนของการดำเนินงาน จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยในช่วงแรก (ก.ย. – ต.ต. 2565) จะเริ่มนำร่อง เขตละ 1 เส้นทาง ส่วนระยะที่ 2 จะขยายเป็นทุกเส้นทางในระดับแขวง (พ.ย.-ธ.ค.2565) และระยะที่ 3 ( ม.ค. – มี.ค.​ 2565) จะขยายทั่วพื้นที่ทั้ง 3 เขตนำร่อง ซึ่งจะมีการติดตามประเมินผลความเหมาะสม ผลดี ผลกระทบต่องบประมาณ ความเพียงพอของทรัพยากร เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ แลรถก็บขนมูลฝอยเฉพาะขยะเศษอาหารให้เพียงพอ และระบบการแปรรูปขยะเศษอาหารที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยให้พร้อมทั้ง 3 ศูนย์ ก่อนขยายผลไป 47 เขต

ส่วนขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้สำนักงานเขตรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุซ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไปด้วย

ท่านผู้ว่าฯ​ ยังเผยถึงการทดลองนำไอเดียด้านการจัดการขยะ ที่ศึกษาจากแนวทางของหลายๆ ประเทศ เช่น การทำตะแกรงพับแบบมีฝาปิดเหมือนในญี่ปุ่น สำหรับล้อมขยะที่จุดรวบรวมรอรถขยะ​เพื่อกันสัตว์มากัดแทะ ทำให้ขยะเล็ดลอดออกมาได้  หรือการสร้างแรงจูงใจในการแยกขยะ ​เช่น การลดค่าเก็บขยะให้ผู้ที่มีการแยกขยะ หรือการมอบปุ๋ยคืนกลับไปให้ใช้ประโยชน์ หรืออาจจะเป็นการให้สติกเกอร์เพื่อชมเชยในการให้ความร่วมมือ  หรือแม้แต่แนวทางเพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือเพิ่มขึ้น ตามนโยบาย PPP (Polluter pays principle) โดยการจ่ายค่าบริการสูงกว่าผู้ที่แยกขยะมา เพราะถือว่าสร้างมลพิษมากกว่า เป็นต้น

Stay Connected
Latest News