เมื่อ Soft Power ไม่ได้สร้างสำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน เรียนรู้ ‘ศาสตร์แห่งความละมุน’ ที่แม้แต่ประเทศมหาอำนาจยังไม่อาจมองข้าม

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยหัวข้อ “SOFT POWER MARKETING ละมุนยังไงให้สุดปัง” เพื่อทำความเข้าใจว่า  Soft Power คืออะไร รวมทั้งบทบาทและการทำงานผ่านมิติความละมุน ที่ค่อยๆ แทรกซึม จนส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้

ตลอดจนกระบวนการในการสร้างสรรค์ Soft Power  ระดับโลก ที่มีการสะสมอิทธิพลด้านความคิด และเชิงวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน จนสามารถได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคได้ในที่สุด

ผลการศึกษาระบุว่า  Soft Power คือ การโน้มน้าวใจ หรือทำให้เกิดความชื่นชอบด้วยการสร้างเสน่ห์บางอย่างให้หลงรักด้วยจุดเด่นในความแตกต่างทางวัฒนธรรม

Soft Power ยังถูกใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือแม้แต่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและวัฒนธรรมให้กับแต่ละประเทศ โดยเฉพาะตัวอย่างประเทศที่ใช้ Soft Power เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และประสบความสำเร็จ คือ ประเทศเกาหลีใต้ จากซีรีส์ Squid Game ซึ่งได้รับความนิยมจนเกิดกระแสไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการแต่งกายเลียนแบบในเรื่อง ถือว่า Soft Power มีส่วนช่วยผลักดันให้สินค้าที่แทบไม่มีใครรู้จักกลับกลายเป็นกระแส

ในส่วนของประเทศไทย คำว่า Soft Power เป็นที่พูดถึงอย่างมากจากปรากฏการณ์ล่าสุดที่ มิลลิ แร็ปเปอร์สาวไทยกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่างเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ (Coachella Valley Music and Arts Festival) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงเมนูขนมหวานจากไทยโด่งดังภายในชั่วข้ามคืนทั้งในและนอกประเทศ

Soft Power ไม่ได้สร้างสำเร็จในชั่วข้ามคืน 

การจัดอันดับ Soft Power ของ Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทด้านกลยุทธ์การประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำระดับโลก แบ่ง Soft Power ออกเป็น 7 หมวดหมู่ย่อย ดังนี้ 1.การบริหารและการปกครอง (Governance) 2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) 3. คุณภาพความเป็นอยู่ของประชากร (People & Values) 4. การส่งต่อด้านมรดกและความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม (Culture & Heritage) 5. การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) 6. ธุรกิจและการค้า (Business & Trade) และ 7. สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication)

ขณะที่เส้นทางในการสร้างการยอมรับ Soft Power ของแต่ละประเทศมาจากการสั่งสม ส่งต่อวัฒนธรรม ความคิด การสะท้อนภาพความเป็นอยู่ตามความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างภาพจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อ Represent ความเป็นตัวเองในสายตาชาวโลก โดยแต่ละประเทศใช้เวลาในการสร้างหลายสิบปี ไปจนถึงมากกว่าร้อยปี ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจของโลกก็ยังให้ความสำคัญกับนโยบายนี้เช่นกัน เช่น

– สหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจตลอดกาลของโลก ที่ใช้เวลามากกว่า 109 ปี ในการสร้างให้ American Poppular Culture ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1913 ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในแวดวง Hollywood วงการเพลง หรือแม้แต่การพัฒนาคาแร็กเตอร์ผ่าน US Comic ทำให้มีเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ ขวัญใจชาวโลก หรือร้านฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ ก็กลายเป็น Symbolic ที่สะท้อนถึงความเป็นอเมริกันชนได้เป็นอย่างดี

– ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ มากว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี 1972 กับการส่งออกวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ทั่วโลกรู้จัก บรูซลี องค์หญิงกำมะลอ กังฟูแพนด้า จนถึงกระแสล่าสุดอย่างปรมาจารย์ลัทธิมาร ที่นอกจากภาพยนตร์แล้วยังเป็นการโปรโมทสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มของประเทศอย่าง IQIYI อีกด้วย

– ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นในการสร้าง Soft Power ผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มามากกว่า 53 ปี ตั้งแต่ปี 1966  จนมีคาแร็คเตอร์ขวัญใจคนทั่วโลก สร้างซูเปอร์ฮีโร่ในแบบชาวตะวันออกทั้ง ไอ้มดแดง โดราเอมอน และละครสะท้อนชีวิตของโอชินที่ทำให้คนทั่วโลกต่างเห็นใจและอดที่จะเอาใจช่วยเธอไม่ได้ ประกอบกับการได้รับการสนับสนุนผ่านนโยบาย Cool Japan มาตั้งแต่ปี 2012 ยิ่งทำให้กระแส J-pop ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างเพิ่มมากขึ้น

– เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านซอฟต์พาวเวอร์อย่างสูงสุด สำหรับเกาหลี ที่วางแผนขับเคลื่อนในเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปีเช่นกัน โดยมีนโยบายการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทางภาครัฐผ่าน Hallyu Industry Support Developmrnt Plan โดยมีหน่วยงานดูแลและขับเคลื่อนโดยเฉพาะคือ Popular Culture Industry ในการส่งออกทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และการสนับสนุนศิลปิน K-pop ให้เติบโตได้ในเวทีโลก เช่น BTS ​ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์โลก ในการขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ของ UN เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งสาสน์ถึงชาวโลก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นล่าสุด เกี่ยวกับการยุติความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชีย หรือปรากฏการณ์​สควิดเกมที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เป็นต้น

กลยุทธ์ SOFT เสริมความปัง 

ทีมผู้ศึกษา ยังได้เสนอแนะกลยุทธ์ในการใช้ Soft Power สำหรับการขับเคลื่อนแคมเปญการตลาดต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย

Absorb แบรนด์จะต้องแทรกซึมเข้าไปอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคแบบเนียนๆ ให้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ยึดโยงกับแบรนด์

– เช่น แบรนด์ชัชชาติ ของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ใช้บุคคลิก #ทำงานทำงานทำงาน ค่อยๆ แทรกซึม และสร้างความน่าเชื่อถือ จนคนกรุงเทพฯ เชื่อมั่นและเลือกให้ท่านเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ พร้อมสะท้อนคาแรคเตอร์ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ซึ่งต่อยอดมาจากภาพจำที่ผู้คนต่างใช้พูดถึงท่าน โดยได้ใช้ การวิ่งมาบวกกับการทำงาน เผยให้เห็นถึงความกระชับกระเฉง กระตือรือร้น จนใครๆ ก็อยากวิ่งตามท่านผู้ว่าฯ กันไปทั่วกรุงเทพ

Extraordinary ทำความธรรมดาให้พิเศษ แบรนด์สามารถสร้างจุดขายของตนเองได้จากสิ่งที่เรียบง่าย และนำลักษณะทั่วๆ ไปของแบรนด์มาสร้างสรรค์ผ่านสื่อ และเนื้อหาที่น่าสนใจจนเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ดี มีความพิเศษ โดดเด่นออกมาได้

– เช่น แบรนด์แม่ประนอม แบรนด์ที่อยู่มาอย่างยาวนาน สู่การเป็นคุณแม่ของชาว Gen Z และมีคอนเทนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ หวือหวา และสนุกสนานไม่เหมือนใคร

Fast การตลาดของแบรนด์จะต้องทันกระแสและสถานการณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับการรับรู้ของผู้บริโภค รวมถึงต้องพร้อมปรับตัวให้เท่าทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

– เช่น ฟู้ดแลนด์ ที่ฉวยกระแสแจ็คสัน หวัง (Jackson Wang)  จัดโปรโมชันแฮปปี้ เซ็ต 99 บาท แทนคำขอบคุณ รับกระแสต่อ Viral ได้อย่างทันท่วงที หรือแบรนด์นันยาง ที่เล่นกระแส Blackpink ต่อยอดลิมิเต็ดนันยางพริ้ง

 Consistency การสื่อสารของแบรนด์ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกๆ ช่องทาง เพื่อให้เกิดความกลมกลืน เกิดการซึมซับจนนำไปสู่การสร้างภาพจำของแบรนด์ต่อไป

–  เช่น การสร้าง Personal Branfinf ของคุณตัน ภาสกรนที และต่อยอดในการสร้างแบรนด์อิชิตัน เป็นต้น

Stay Connected
Latest News