ซีพีเอฟ ลดคาร์บอนได้แล้ว 28% พร้อมเร่งแผนพิชิต Carbon Neutral ภายในปี 2030 ตามเป้าหมาย

ซีพีเอฟ ผู้นำธุรกิจอาหารของประเทศ และเป้าหมายสำคัญสู่การเป็นครัวของโลก  กับแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้ 3 กรอบสำคัญ ได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่  ซึ่งสอดคล้องไปกับปรัชญา 3 ประโยชน์ ของเครือเจ​ริญโภคภัณฑ์ ​ด้วยการการเข้าไปสร้างประโยชน์ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทั้งผู้คน และสังคมในทุกๆ ประเทศที่มีการขยายธุรกิจเข้าไป

โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซีพีเอฟก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นแหล่งกำเนิดอาหาร หากเกิดผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะกระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหารด้วยเช่นเดียวกัน โดยซีพีเอฟ ได้ประกาศเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ ภายในปี 2030

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันซีพีเอฟสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้วกว่า 28% โดยต้องการขับเคลื่อนให้ได้เป้าหมายตามที่ UN กำหนดในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutral ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปีฐานในปี 2020 และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับบริษัทในเครือ โดยอยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนทั้งจากฟากของการฟื้นฟูระบบนิเวศเพิ่มเติม ผ่านการปลูกป่าชายเลน รวมทั้งปลูกป่าต้นน้ำที่ทางบริษัทได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF)

ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ภายในฟาร์มและโรงงานต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน ทั้งน้ำ ไฟ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากโซลาร์เซลล์ หรือจากไบโอแก๊ส ไบโอแมส ซึ่งนอกจากช่วยเรื่องพลังงานทดแทนยังได้ปุ๋ยชีวภาพไปแจกให้เกษตรกรโดยรอบอีกด้วย พร้อมทั้งการอัพเกรดประสิทธิภาพเครื่องจักรในกระบวนการผลิตต่างๆ  รวมไปถึงการพัฒนาด้าน Agri-tech เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดจำนวนรอบการปลูก การใช้น้ำ การใช้ปุ๋ย หรือลดพื้นที่ในการเพาะปลูก และยังช่วยลดผลกระทบต่อต้นทุนรวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงผู้บริโภค เพราะถือเป็นต้นทาง​ที่สำคัญของธุรกิจด้วยเช่นกัน

“ปัจจุบันเราลดคาร์บอนลงได้แล้ว 28% ยังมีช่องว่างที่ต้องขับเคลื่อนต่อเพื่อไปก้าวสู่ Carbon neutral ในปี 2030 และเป้าหมายใหญ่คือ Net zero ในปี 2050 ซึ่งเรายังต้องทำการบ้านต่อ ทั้งการคำนวนตัวเลขจากฝั่งของการปล่อยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งหาแนวทางเพื่อดูดซับและชดเชยกลับ ซึ่งที่ผ่านมาเราทำทั้งสองฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่องมากว่า 6-7 ปี รวมแล้วกว่า 2,000 ไร่ และมีแผนปลูกเพิ่มเติมอีกในปีนี้ ส่วนการปลูกป่าในแหล่งต้นน้ำที่เขาพระยาเดินธง ได้คืนผืนป่าแล้วเกือบ 7 พันไร่ และมีเป้าหมายปลูกเพิ่มเติมในปีนี้ 6,900 ไร่  รวมถึงการขับเคลื่อนร่วมกับพันธมิตรในการดูแลรักษาและช่วยฟื้นฟูทะเล ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำในระบบนิเวศอีกประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน”​

คุณประสิทธิ์ กล่าวถึงความท้าทายของซีพีเอฟเพื่อไปสู่เป้าหมายในปี 2030 อยู่ที่เรื่องของเวลาที่มีอย่างจำกัด เพราะเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าต้องทำให้ได้ภายในปี 2030 จากนี้ต้องเร่งคำนวณให้ได้ว่า เวลาที่มีอยู่กับเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง กิจกรรมต่างๆ  สามารถช่วยลดคาร์บอนได้เท่าไหร่ ​เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วช่วยได้เท่าไหร่ ต้องลงทุนเพิ่มเติมพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มาใช้อย่างไร เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม แผนการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของซีพีเอฟ หรือ  CPF 2030 นั้น ได้วางกรอบการขับเคลื่อนผ่าน 3 มิติ โดยแต่ละมิติ มีรายละเอียด ดังนี้

อาหารมั่นคง : เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารผ่านผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับการทำการตลาดอย่างรับผิดชอบ และการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ โดยมีเป้าหมาย เช่น ในปี 2030 รายได้กว่า 40% จะมาจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Green Revenue, 50% ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องยกระดับเรื่องของสุขภาพและโภชนาการที่ดีขึ้น และเข้าถึงผู้บริโภคได้กว่า 35 ล้านรายต่อวัน รวมถึงการเลี้ยงดูปศุสัตว์ตามหลักมาตรฐานการจัดการฟาร์มและโรงเรือนทั้ง 100%

สังคมพึ่งคน : สร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่พนักงานและสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมีการตรวจประเมินด้านสิทธิมนุษยนชนทุก 3 ปี ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการศึกษาและอบรมทักษะพนักงาน​ จำนวน 3 ล้านชั่วโมง รวมทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม โดยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจได้กว่า 3 ล้านราย

ดินน้ำป่าคงอยู่ : ดูแลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การจัดการด้านพลังงาน  ทรัพยากรน้ำ และการจัดการของเสียในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ​เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต หรือสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจก 2 แสนต้น จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ลดของเสียในการนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ หรือการใช้วัตถุดิบหลักมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

Stay Connected
Latest News