จับตาตลาดวัสดุชีวภาพทางการแพทย์เติบโตสูง คาด 7 ปี มูลค่าทั่วโลกทะลุ 15 ล้านล้านบาท ประเทศกลุ่ม BRICS ครองดีมานด์ 1 ใน 3

Growth+Reports บริษัทวิจัยข้อมูลด้านสุขภาพระดับโลก และสมาชิกสมาคมวิจัยการตลาดยาแห่งยุโรป (EphMRA) ซึ่งมีฐานอยู่ทั้งในสหรัฐอเมริกา อินเดีย และสิงคโปร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาตลาด Biomaterials พบว่ามีโอกาสเติบโตได้กว่าปีละ 13.7%  จนถึงปี 2030 หรือตลอด 7 ปีข้างหน้านี้ โดยคาดมูลค่าเติบโตได้ถึง 3.95 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  หรือกว่า 15 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาตลาดในสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา มูลค่าอยู่ที่ 1.24 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.73  ล้านล้านบาท หรือเติบโตได้กว่า 3 เท่าตัว โดยปัจจัยการเติบโตมาจากโอกาสในการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านศัลยกรรมกระดูก โรคหัวใจ ระบบประสาทต่างๆ ทั้งฟัน หู และตา รวมทั้งหลอดเลือด กระดูกและข้อต่างๆ ซึ่งวัสดุชีวภาพเหล่านี้สามารถนำไปทดแทนเนื้อเยื่อ หรือการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนสัดส่วนโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละวัน หรือภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ ของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย อ้างอิงศูนย์วิจัย Maximize Market Research Analysis ในอินเดีย ​ที่ฉายภาพโอกาสของตลาดใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีวัสดุระดับนาโน และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีความสามารถในการ​สมานเข้ากับเนื้อเยื่อ (Bioimpatible) รวมทั้งการดูดซึม (Bioresorbable) จึงนิยมนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับการผลิตอวัยวะเทียมด้วยระบบพิมพ์ 3 มิติ ​

รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ (implanted devices) ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่างๆ ต่ำลง ตอบสนองตลาดผู้ป่วยและผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย และประเทศในกลุ่ม BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1ใน 3 ของปริมาณความต้องการสินค้าประเภทนี้ เป็นที่สนใจของ​ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Starch Medical, BASF, Corbion, Zimmer Biomet ในการเร่งพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย

รวมทั้งยังมีโอกาสใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอินเดียคือ การนำวัสดุชีวภาพไปใช้เป็นวัตถุดิบขั้นกลาง ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในเมืองบังกาลอร์มีการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็น​ Marketplace ให้ผู้ผลิตและผู้จัดซื้อวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมได้พบปะกัน เพื่อนำเสนอวัสดุใหม่ๆ ที่โรงงานอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน

แพลตฟอร์มนี้มีชื่อว่า Mynusco Biomaterials Platform โดยใช้ระบบ AI ในการค้นหาวัสดุชีวภาพที่มีมากกว่า 1,000 รายการ มาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (carbon footprint) ให้ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะโรงงานที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว ที่ไม่เพียงต้องการลด กระทบในกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ยังมีมาตรฐานใหม่ที่ครอบคลุมไปตลอดห่วงโซ่อุทานและวงจรชีวิตของสินค้านั้นด้วย (Product Lifecycle Impact) ทั้งในกลุ่มสินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนตัว ของใช้ในบ้าน ร้านอาหารและโรงแรม

source

Stay Connected
Latest News