“Our Business, Our Planet, Our Future พลังบวกเปลี่ยนโลก พลังบวกเปลี่ยนผลลัพธ์” ผ่าน 3 มุมมอง ขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืน

เนื้อหาดีๆ จากงานวันนักการตลาด “Thailand Marketing Day 2022 : The Game Changer” เวทีฟอรั่มที่รวบรวมหลากหลายเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในโลก Post-Pandemic

โดยเฉพาะทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจที่ต่างออกไปจากเดิม ตามพฤติกรรมผู้บริโภค และบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง เมื่อผู้บริโภคมองหา​คุณค่าของธุรกิจต่อโลกและสังคม เป็นยุคที่ผู้บริโภคต่างมองหาแบรนด์ที่มอบคุณค่าได้มากกว่าตัวสินค้า การทำธุรกิจจึงต้องหาความสมดุลระหว่างการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกแก่โลกและสังคมควบคู่ไปด้วย

บนเวทีสัมมนาหัวข้อ Our Business, Our Planet, Our Future พลังบวกเปลี่ยนโลก พลังบวกเปลี่ยนผลลัพธ์ จาก 3 ผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจที่แตกต่างกันไป มาร่วมสะท้อนถึงแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ต้องสร้างการเติบโตไปทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ​ประกอบด้วย  คุณจักรพงษ์ ชินกระโทก CEO & Founder – Fine Folk and Fine Food Co.,Ltd คุณชยุตม์ สกุลคู CEO – Tact Social Consulting และ คุณประภัสรา อร่ามวงศ์สมุทร Director – Mini Thailand

เริ่มด้วย คุณต้น – จักรพงษ์ ชินกระโทก (ต้น) CEO & Founder – Fine Folk and Fine Food Co.,Ltd ตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติมาช่วยในการขับเคลื่อน จึงต้องสร้างแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในวงจรธุรกิจ เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการสร้าง​ Green Operation ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่ในยุคเฟื่องฟูเคยเติบโตสูงมาก จนสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 3 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของจีดีพี

แต่การเติบโตในช่วงที่ผ่านมา มักมองแค่ตัวเลขรายได้ จำนวนนักท่องเที่ยว แต่ไม่เคยมองถึง​ปัญหาการบริหารจัดการทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพราะเมื่อเทียบกับการเป็นประเทศที่ทำรายได้สูงเป็น อันดับ 4 ของโลกในปีนั้น แต่ความสามารถในการบริหารจัดการกลับอยู่อันดับที่ 31  สะท้อนว่ามีปัญหาในการบริหารจัดการ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่รู้ว่าได้กำไรหรือขาดทุนกันแน่ เมื่อเทียบกับการใช้ทรัพยากร หรือต้นทุนที่สูญเสียไป เป็นที่มาของการเริ่มธุรกิจเพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาทั้งเรื่องของทรัพยากรคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้รู้จักการดำเนินธุรกิจที่มีกำไรก็ได้ ไปพร้อมกับดูแลรักษาทรัพยากรให้ยืนยง ไปได้ถึงลูกหลาน รวมถึงคอมมูนิตี้ ซึ่งมีทั้งชุมชนและภาคเอกชน

คุณต้น – จักรพงษ์ ชินกระโทก (ต้น) CEO & Founder – Fine Folk and Fine Food Co.,Ltd

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่สามารถมองแค่บรรทัดเดียวที่ผลกำไร แต่ต้องนึกถึงมิติอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การเกื้อกูลกันในสังคม รวมถึงการทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปรับตัวมีความยืดหยุ่นเพื่อให้อยู่รอด การท่องเที่ยวหลังโควิด เราต้องหันมาเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่ามองแค่จำนวน ซึ่งหากเราอยากได้นักท่องเที่ยวคุณภาพ สินค้าของเราก็ต้องมีคุณภาพ มีการใส่แนวคิดเรื่องของ Green และ Clean ให้เป็นแบบ in Process ให้อยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยและคนในอุตสาหกรรม เพื่อสร้าง Big Move ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องทำให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน และเปลี่ยนหน่วยวัดในอุตสาหกรรม มามองเรื่องของทรัพยากร ชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่งคั่งให้ได้ทั้ง 3P ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การปรับตัวในก้าวต่อไปของคนท่องเที่ยว ​ต้องพูดเรื่องเดียวกับคนทั้งโลก พูดเรื่องเดียวกับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่กำลังจะเข้ามา เพื่อให้ประเทศแข็งแรงมาจากพื้นฐาน และสามารถเติบโตต่อในอนาคตได้อย่างมั่นคง”​  

คุณแม็ค – ชยุตม์ สกุลคู CEO – Tact Social Consulting ต้นแบบการขับเคลื่อนพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม พร้อมทั้งการเติมมายด์เซ็ตเกี่ยวกับเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ คุณแม็คให้มุมมองว่า ประเด็นความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ นักลงทุนต้องการเห็นการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจมากกว่าแค่ตัวเลขทางการเงิน หรือหากทำธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม ก็อาจไม่ได้การพิจารณาสินเชื่อ หรือกู้ได้ในอัตราที่ต้องเสียดอกเบี้ยที่แพงกว่า หรือมีการกีดกันด้านการค้า ในตลาดส่งออกที่มองเรื่องนี้ ดังนั้น ความยั่งยืนถือเป็นกติกาใหม่ของโลก ไม่ใช่เรื่องของบริษัทที่มีเงินเหลือถึงค่อยไปทำ ​

“การขับเคลื่อนความยั่งยืน ต้องเริ่มมาตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้นำในองค์กร เพื่อทำให้กรอบ ESG อยู่ในกระบวนการทำงาน โดยกำหนดให้อยู่ในองค์ประกอบทั้งของวิชั่นและมิชชั่นขององค์กร มีการตั้ง KPI เพื่อวัดผลได้อย่างชัดเจน และเพื่อให้คนในองค์กรปฏิบัติตาม และมีการแยก KPI ที่ปรับให้เหมาะสมไปในแต่ละส่วนงาน เพื่อเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน รวมไปถึงวิธีปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งมองเรื่องการวัดผลที่จับต้องได้ เช่น การพัฒนาของรายได้ หรือคุณภาพของคนในชุมชน ในกรณีที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ซึ่งต้องวัดผลได้จากพื้นที่ในแต่ละโครงการ ซึ่งสุดท้ายแล้ว บริษัทที่ขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้ จะสามารถสร้างให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้นในทางการตลาด และมีระดับของ Brand love ที่สูง ซึ่งสะท้อนถึงการยอมรับและความรักที่ผู้คนมีให้กับแบรนด์ของเรา”

คุณแม็ค – ชยุตม์ สกุลคู CEO – Tact Social Consulting

​คุณปุ้ย – ประภัสรา อร่ามวงศ์สมุทร Director – Mini Thailand หนึ่งในบริษัทยานยนต์แถวหน้าของประเทศ ซึ่งคุณปุ้ยยอมรับว่าธุรกิจรถยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมลภาวะให้กับโลก แต่ก็สามารถขับเคลื่อนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับไปการดูและสังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ ซึ่งการขับเคลื่อนต้องทำเป็นระบบ ไม่ได้มองแค่ว่าจะลดคาร์บอนได้เท่าไหร่ หรือแค่ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ต้องมองทั้งกระบวนการ เพราะทุกขั้นตอนสามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งในส่วนของมินิ 99% ของขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสามารถนำไปเข้าในกระบวนการรีไซเคิลได้ท้ังหมด ซึ่งนอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจได้ด้วย เพราะถ้าของเสียน้อยลง ขั้นตอนต่างๆ ลดลง ก็ช่วยเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจได้ด้วย เพราะในระยะยาวต้นทุนในการดำเนินงานจะลดลง

แม้ว่าในช่วงแรกอาจต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนระบบการใช้พลังงาน แต่สุดท้ายเมื่อกระบวนการผลิตเข้าที่จะช่วยลดต้นทุน และมีกำไรที่มากขึ้นได้ ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต้องมองทั้งกระบวนการ ที่ต้องมีการหมุนเวียนให้มากที่สุด ไม่สามารถมองแค่ตอนสร้าง แต่ต้องมองไปจนถึงเมื่อไม่ได้ใช้งานแล้วรถสามารถนำมารีไซเคิลได้หรือไม่ ซึ่งแนวคิดของมินิสร้างขึ้นเพื่อให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ง่ายที่สุด 95% ของตัวถังที่เป็นเหล็ก สามารถนำมารีไซเคิลได้ เช่นเดียวกับกระจกที่สามารถส่งกลับมาที่โรงงานเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ พร้อมทั้งเป้าหมายสำคัญขององค์กรในการลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก และการมุ่งเน้นไปยังรถอีวี ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด

​คุณปุ้ย – ประภัสรา อร่ามวงศ์สมุทร Director – Mini Thailand

“การนำมุมมองของลูกค้าและผู้คนในสังคมมาเป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อน ถือว่ามีความสำคัญ เพราะต้องมองที่ความต้องการของลูกค้าด้วย แม้จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ถ้าลูกค้าไม่พร้อมรับ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ หรือการใช้วัสดุพรีเมียมต่างๆ ก็ไปด้วยกันกับแนวคิดรักษ์โลกได้ บางคนอาจะมองว่า ถ้าไม่ใช่หนังแท้ จะไม่ใช่ตลาดลักซ์ชัวรี่ แต่มุมมองใหม่ของโลกเปลี่ยนไป New Luxury is Sustainability เป็นกระบวนการที่เราต้องสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจ เพื่อให้ธุรกิจและความยั่งยืนสามารถขับเคลื่อนไปเป็นเนื้อเดียวกันได้” 

Stay Connected
Latest News