3 ทิศทาง ไปรษณีย์ไทย สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อตลาด Logistics ต้องเผชิญ​ Price War

พฤติกรรม New Normal จากเอฟเฟ็กต์การแพร่ระบาดของโควิด -19  ส่งผลให้ตลาด E-commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีผู้ให้บริการในซัพพลายเชน อย่างผู้ให้บริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ เข้ามาในตลาดจำนวนมาก นำมาซึ่งการแข่งขันอย่างรุนแรง และหนึ่งในวิธีการสร้างตลาดอย่างรวดเร็วของผู้เล่นรายใหม่​ก็หนีไม่พ้น การลดราคาเพื่อจูงใจผู้ใช้บริการ

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์​ กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ตลาดขนส่งในปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องได้ราว 11-12% จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้มูลค่าตลาดขยับไปแตะเกิน 1 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนการขนส่งโดยรวมในช่วง 1-2 ปีนี้จะอยู่ที่ 995 -997 ล้านชิ้น และคาดการณ์ว่าจะทะลุไปเกิน 1181 ล้านชิ้นได้ในปี 202

“หลาย​ฝ่ายอาจมองว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นในตลาดที่จะได้อานิสสงส์จากการขยายตัวของตลาด แต่ผมมองตรงข้าม เนื่องจาก สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เราไม่ได้อยู่ในช่วงล็อกดาวน์แบบ 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คนเริ่มออกจากบ้านมากขึ้น  ทำให้เวลาที่จะใช้อยู่แต่หน้าจอลดลง คนเริ่มไปใช้ชีวิต ไปแฮงค์เอ้า และมีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และได้มีโอกาสไปซื้อสินค้าแบบออฟไลน์เพิ่มขึ้น อาจจะกระทบต่อดีมานด์ในตลาดสินค้าออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับว่า สินค้าบางประเภทการซื้อผ่านออนไลน์อาจจะยังไม่ตอบโจทย์มากนัก ประกอบกับ การเข้ามาของผู้ให้บริการหน้าใหม่ ที่ยังคงมีเข้ามาต่อเนื่อง ส่งผลให้การแข่งขันสูง หลายรายเริ่มใช้วิธีการลดราคา เพื่อขยายฐานผู้ใช้งาน ทำให้แม้ตลาดโดยรวมในแง่จำนวนชิ้นงานจะมากขึ้น แต่มูลค่าที่ได้ต่อชิ้นงานลดน้อยลง ซึ่งมูลค่าต่อชิ้นงานของไปรษณีย์ไทยเองก็ลดลงราว 7-10% ด้วยเช่นเดียวกัน”

สถานการณ์ที่คาดว่าจะได้เห็นในตลาดนี้ คือ การแข่งขันทางด้านราคา หรือการเกิด​ Price War จากการที่ผู้เล่นรายเดิมต้องการรักษาส่วนแบ่งในตลาดของตัวเองไว้ ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่ก็ต้องการสร้างฐานลูกค้าให้ได้โดยเร็ว ซึ่งตลาดที่สู้กันด้วยราคา แม้จะสร้างการเติบโตได้ แต่ไม่ใช่แนวทางในการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน

ขณะที่ Performance ของไปรษณีย์ไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ที่ผ่านมา ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้  โดยมีการเติบโตของปริมาณชิ้นงาน EMS ในประเทศ เพิ่มขึ้น 15 % รวมทั้งลดการร้องเรียนต่างๆ ลงได้เกือบครึ่ง ทั้งความผิดพลาดในการนำจ่ายที่ลดลง 46% เช่นเดียวกับ การร้องเรียนเรื่องสิ่งของสูญหาย เสียหาย ล่าช้า ที่ลดลงในอัตรา 46% เท่ากัน

 วาง 3 กลยุทธ์​ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนทิศทางการเติบโตของไปรษณีย์ไทย ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะเน้นการเติบโตจากกการสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่ง เพื่อเลี่ยงการเข้าไปแข่งขันในสงครามราคา รวมทั้งการปรับต้นทุน จากการปรับเส้นทางในการขนส่ง รวมทั้งหันมาใช้รถ EV ทั้งเพื่อการประหยัดพลังงาน รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย และการครีเอทดีมานด์ใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ผ่านการรุกธุรกิจในกลุ่ม Retail ให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ​โดยคาดว่าจะสามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ โดยรักษารายได้ไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา ที่ทำรายได้กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท โดยรายละเอียดในการขับเคลื่อนแต่ละมิติ ประกอบไปด้วย

1. การสร้าง Value & Differentiate สำหรับการขนส่ง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ Parcel Define Logistic เพื่อการขนส่งในตลาดเฉพาะ ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพในการส่งมากขึ้น เช่น ความต้องการส่งของใหญ่ ของสด ของเย็น ส่งยา ส่งผลไม้ หรือการส่งของที่ต้องอาศัยความระมัดระวังในการส่งมากขึ้น ซึ่งจะต้องให้ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกแพกเกจที่เหมาะกับสินค้า การจัดวางสินค้าเพื่อป้องกันความเสียหาย รวมไปถึงการรองรับความต้องการในกลุ่มการส่งด่วน ​ด้วยการขยายเครือข่ายจุดให้บริการที่ปัจจุบันมีกว่า 1.1 หมื่นแห่ง เพื่อขยายการให้บริการครอบคลุมได้ทั่วประเทศ รวมทั้งเพิ่มจุดให้บริการ EMS Point ให้สอดคล้องความต้องการ ​และการผนึกพันธมิตรในภาคธุรกิจขนส่ง เพื่อเข้ามาเป็นหนึ่งในอีโคซิสเท็มในการให้บริการด้านการขนส่ง เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการในรูปแบบ Next Day ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นดีมานด์ในช่วงปลายปี ทางไปรษณีย์ไทยยังได้ขยายเวลาการจัดโปรโมชั่น “โปรคุ้ม EMS ลดทุกวัน” ด้วยการมอบส่วนลดค่าส่งด่วน EMS สูงสุดกว่า 50% โดยฝากส่งสิ่งของในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ราคาเริ่มต้นเพียง 25 บาท และวันอาทิตย์เริ่มต้นเพียง 19 บาท โดยคิดคำนวณแบบราคาเดียวทุกปลายทางทั่วไทย ไม่บวกเพิ่ม และไม่มีเก็บค่าขนส่งในพื้นที่ห่างไกล พร้อมนำจ่ายทุกวันไม่มีวันหยุด โดยผู้ใช้บริการสามารถรับส่วนลดดังกล่าวได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ครอบคลุมทุกที่ทำการฯ ทั่วประเทศ  

2. การบริหารจัดการเส้นทางขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น​ และการดำเนินนโยบาย Green Logistics ผ่านการปรับปรุงและเชื่อมโยงเส้นทางในการขนส่งอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลดจำนวนกิโลเมตรแต่สามารถเพิ่มชิ้นงานได้มากขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปริมาณการใช้น้ำมันซึ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนราว 30% โดยยังคงรักษานโยบายสำคัญที่สามารถ ‘ส่งได้ทุกที่ทั่วประเทศ’ ขณะเดียวกันมีแผนปรับเปลี่ยนรถนำจ่ายมาใช้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ปริมาณน้ำมันลง ซึ่งได้นำร่องไปแล้วจำนวน 250 คัน ​และมีแผนจะขยายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการรณรงค์การเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์ของบุรุษไปรษณีย์ที่มีกว่า 2 หมื่นคัน มาเป็น EV Bike เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันมีการเริ่มนำร่องในการเปลี่ยนไปแล้วราว 30 คัน โดยการผลักดันภาพรวมต่างๆ เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานโดยรวมลดลงได้ราว 18%

ทั้งนี้ การผลักดันนโยบายด้าน Green Logistic นอกจากจะช่วยด้านการจัดการต้นทุนแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรด้วย เนื่องจาก การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการขนส่ง เป็นหนึ่งในกิจกรรมของธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งปี 2564 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เกือบ 13%

3. การครีเอท New Demand ในตลาด ผ่านกลุ่มธุรกิจรีเทล ด้วยการจำหน่ายสินค้าในแพลตฟอร์ม Thailand Post Mart ด้วยการหาสินค้าเด่นจากแต่ละท้องถิ่นเข้ามาจำหน่ายในแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลร์ รวมทั้งออฟไลน์ผ่านที่ทำการ และการใช้เครือข่ายผ่านบุรุษไปรษณีย์ที่มีความคุ้นเคยกับผู้คนในพื้นที่ ในการนำเสนอสินค้าให้แต่ละท้องถิ่น ที่มีความสนใจแตกต่างกันไป โดยในปีที่ผ่านมา ธุรกิจรีเทลสามารถทำรายได้ราว 300 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มได้เป็น 500 ล้านบาทในปีนี้ ​โดยสัดส่วนยอดขายมาจากแพลตฟอร์มออนไลน์​ 30-40% และช่องทางออฟไลน์ราวๆ 60%

“ธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก นอกจากการเพิ่มโมเดลธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้องค์กรแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศ ให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างดีมานด์ในธุรกิจขนส่งของตัวเอง โดยไม่ต้องไปแข่งขันจากการรอเป็นผู้ให้บริการขนส่งจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากธุรกิจรีเทลเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น ก็เท่ากับมีดีมานด์เข้ามามากขึ้น และไม่ต้องเข้าไปแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เนื่องจาก เป็นธุรกิจในเครือของไปรษณีย์ไทยเอง เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับทั้งซัพพลายเชน”

อย่างไรก็ตาม การวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งการ Diversify เพื่อขยายการเติบโต​​ จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับไปรษณีย์ไทยโดยภาพรวม รวมทั้งขยายฐานรายได้ให้กับแต่ละกลุ่มธุรกิจให้เติบโตได้มากขึ้น โดยคาดว่าในสิ้นปีนี้​สัดส่วนรายได้จากแต่ละกลุ่มธุรกิจจะขยับเพิ่มสัดส่วน ดังต่อไปนี้ กลุ่มธุรกิจ Logistic และส่งด่วน 40% กลุ่มไปรษณียภัณฑ์​ 30% กลุ่มธุรกิจขนส่งต่างประเทศ​ 15% และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและการเงิน 15%

Stay Connected
Latest News