TCP วาง​ 4 Framework ความยั่งยืน 360 องศา อัดงบพิเศษเพิ่ม 100 ล้าน ทำงานร่วมภาคสังคม​ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ  

หลังกลุ่มธุรกิจ TCP ประกาศเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า”​ เพื่อขับเคลื่อนการ​เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแผน 3 ปี (2565 -2567) ภายใต้ 3 แนวทาง ในการขับเคลื่อน ได้แก่ Fulfilling หรือปลุกพลังแบรนด์สินค้า, Growing ปลุกพลังธุรกิจเติบโต และ Caring ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม

คุณสราวุธ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริการ กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า บริษัทได้กำหนด 4 กรอบการดำเนินงาน เพื่อพิชิตเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งสามารถขับเคลื่อนแนวทางในการสร้างความยั่งยืนได้แบบ 360 องศา ทั้งในมิติที่เป็น In Process และ After Process เพื่อให้แต่ละภาคส่วนในธุรกิจสามารถนำไปปรับรูปแบบวิธีการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์สอดคล้องกับเป้าหมายภาพใหญ่ที่วางไว้  ประกอบด้วย

Product Excellence ในมิติของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การสร้างแบรนด์สินค้าระดับโลกเข้ามาเติมในพอร์ตโฟลิโอ หรือเป้าหมายสร้างการเติบโตแบบ Double Growth ด้วยรายได้แตะ 9 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ผ่านบลงทุนตลอด 3 ปีที่เตรียมไว้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

Circular Economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ทั้งการดำเนินงานของ TCP เองและร่วมกับพันธมิต รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายในปี 2567 รวมทั้งการลดปริมาณการใช้แก้ว และอลูมิเนียมให้น้อยลง ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในพอร์ต (อลูมิเนียม 60% แก้ว 36%) รวมทั้งการเปลี่ยนพลาสติกอีก 4% เป็น PET ​ ทั้งการผลิตขวด ฝา หรือแม้แต่ฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ปัจจุบันยังเป็น PVC จะเปลี่ยนเป็น PET ​เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตด้วยการสนับสนุนระบบการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์​เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ช่วยลดผลกระทบเชิงลบ

Carbon Neutrality เพื่อร่วมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนลง 17% เมื่อเทียบกับปีฐานในปี 2563 ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ตามเป้าหมายในปี 2593 จากกระบวนการทำงานทั้งในประเทศไทย รวมทั้งในต่างประเทศ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในจีนและเวียดนาม

Water Sustainability ในฐานะบริษัทเครื่องดื่ม ภารกิจในการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำจึงถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของบริษัทด้วยเช่นเดียวกัน โดยวางเป้าหมายคืนน้ำสู่ธรรมชาติให้มากกว่าที่ใช้ทั้งในไทย จีน และเวียดนาม ขณะที่การขับเคลื่อนโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย สามารถคืนน้ำเข้าสู่ระบบธรรมชาติได้แล้วกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตรและจะทำอย่างต่อเนื่อง

“ตลอด 66 ปีที่ผ่านมา บริษัทให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของการให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานทดแทน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต แต่ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไป รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่เป็นวาระสำคัญที่ทั้งโลกมีความกังวล นำมาสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีขับเคลื่อนด้วยการเปิดรับมุมมอง องค์ความรู้ หรือแลกเปลี่ยนแนวทางทำงาน เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนได้อย่างมีพลังเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสภาพอากาศ ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อทำให้โลกดีขึ้นโดยเร็ว องค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงไม่ควรมองว่าเป็นความลับทางธุรกิจ แต่ควรแบ่งปัน หรือร่วมกันพัฒนาเพื่อให้สามารถสร้างโซลูชันที่ดีต่อโลกได้มากที่สุด และถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน”​

เพิ่มงบพิเศษ 100 ล้านขับเคลื่อนภารกิจเพื่อความยั่งยืน

นอกจากนี้ ทางกลุ่มธุรกิจ TCP ได้จัดสรรงบพิเศษเพิ่มเติมจากแผนลงทุนที่ได้เคยประกาศไว้ สำหรับการขับเคลื่อนมิติด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ​ จำนวน 100 ล้านบาท ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสนับสนุนการศึกษาซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนา และสามารถต่อยอดไปสู่การแก้ปัญหาในมิติอื่นๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจากผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล หรือการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำต่างๆ รวมไปถึงการนำไปสนับสนุนกิจกรรมและความร่วมมือระหว่างพันธมิตรในแต่ละภาคส่วนต่างๆ  ซึ่ง TCP จะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายใน Ecosystem ของธุรกิจ รวมไปถึงหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในปัญหาแต่ละมิติเพื่อร่วมกับขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันเป็นต้น

สำหรับ ความท้าทายในการขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ​ ต้องอาศัย 3 ประเด็นใหญ่ๆ ที่หลายฝ่ายควรหันมามองและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง ประกอบด้วย

1. ข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่อาจมีไม่มากพอ ​จากความพยายามของทุกฝ่ายที่ต้องการรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องขับเคลื่อนแบบเร่งด่วน เพราะผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรม หรือความจริงจังในการสร้างความร่วมมือ เพื่อหยุดสร้างผลกระทบต่อโลก จำเป็นต้องเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพราะผลกระทบต่างๆ อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จึงจำเป็นต้องแบ่งปัน หรือทรัพยากรความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

2. การมีข้อบังคับ หรือกฎระเบียบต่างๆ จากทางการมาช่วยปลดล็อก หรือสนับสนุนให้สามารถดำเนินมาตรการบางอย่างได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจาก การขับเคลื่อนบางอย่างอาจต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรืออาจต้องเม็ดเงินลงทุนที่สูงเกินกำลังที่ภาคเอกชนจะสามารถขับเคลื่อนได้โดยลำพังได้

3. ความเข้าใจและการปรับตัวของผู้บริโภค รวมทั้งการมีทัศนคติที่เห็นความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทาง และลดทรัพยากรที่ต้องจัดสรรมาใช้เพื่อบริหารจัดการในภายหลังเป็นต้น

Stay Connected
Latest News