‘พิษเงินเฟ้อ’ ส่งผลชาวเยอรมันบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืนลดลง มากกว่าครึ่งเลิกจ่ายส่วนต่างที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเยอรมันอย่างเห็นได้ชัด

บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกอย่าง ​Deloitte ทำการสำรวจผู้บริโภคชาวเยอรมันจำนวน 1,500 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ช่วงเดือนสิงหาคม 2021 และ 2022 ​พบสัดส่วนผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเงินส่วนต่างเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน หรือสินค้าในกลุ่ม Eco-friendly เมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไปลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2022 โดยเหลือเฉลี่ยเพียง​ 30% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่สัดส่วนผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายส่วนต่างนี้มีถึง 67%

Mr.Thorsten Zeirlein ผู้บริหารบริษัท Deloitte และหัวหน้าที่ปรึกษาบริษัทค้าปลีก กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระหว่างปี 2000 – 2019 ที่มีอัตราต่ำกว่า 1.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 14.8% ในปี 2022 สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ชาวเยอรมันประหยัดมากขึ้น และกระทบต่อการบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืนให้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถึงแม้ว่าชาวเยอรมันจะนิยมบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืนลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวเยอรมันจะตระหนักในประเด็นนี้ลดลงไปด้วย เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอยู่ เชื่อว่าหากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติหรือดีขึ้น ผู้บริโภคก็จะหันกลับมาบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เพราะผู้บริโภคยังคงตระหนักเรื่องความยั่งยืน โดยผู้บริโภค 50% ที่ยังมองว่า เรื่องความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม​มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคเป็นอย่างสูง ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่แตกต่างกับ 53% ในปี 2021 มากเกินไปนัก

อย่างไรก็ตาม แม้การตระหนักเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ทำให้ผู้บริโภค​ 41% เลือกที่จะไม่หันกลับไปซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เนื่องจากขาดกำลังซื้อ และต้องประหยัดในการซื้อสินค้าที่จำเป็น

ขณะที่ผู้บริโภค 55% ระบุว่าผลิตภัณฑ์ควรให้ข้อมูลที่โปร่งใส และน่าเชื่อถือมากขึ้น เพื่อโน้มน้าวให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อสินค้าเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น รวมถึงหากราคาสินค้าเพื่อความยั่งยืนไม่แตกต่างจากราคาสินค้าทั่วไปผู้บริโภคก็พร้อมสนับสนุน ขณะที่ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในระยะยาวได้ด้วย

ด้านผู้บริโภคกลุ่มหลักของสินค้าเพื่อความยั่งยืนนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 18 – 35 ปี ที่กว่า 40% ยินดีจ่ายเงินส่วนต่างให้สินค้าเพื่อความยั่งยืน มากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 20% ขณะที่กลุ่มอายุ 46 – 55 ปี จำนวน 26% ที่ยินดีจ่ายเงินเพิ่ม และยังลดลงจากปี 2021 ถึง 42% อีกด้วย

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Stay Connected
Latest News