เอปสัน ชู Product Excellence ​สร้างนวัตกรรมรักษ์โลก พร้อมหนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใช้ความยั่งยืนปั้นธุรกิจ

Sustainable Value เป็นหนึ่งในแกนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้เอปสัน ในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีการพิมพ์และโปรเจคเตอร์อันดับหนึ่งของโลก จากทั้งหมด 5 แกน ซึ่งสุดท้ายแล้วแต่ละแกนจะตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Smart Technology, Simple Start, S-curve Trend และ Service Excellence

​​ที่ผ่านมาเอปสันกำหนดแนวทางการทำธุรกิจให้เดินคู่ไปกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น จนเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดสาร CFC ​ที่ทำลายชั้นโอโซนออกจากกระบวนการผลิตทั้งหมดได้ มาตั้งแต่ปี 1993

ทั้งนี้ ตาม Vision 2050 เอปสันได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจเป็นศูนย์ รวมทั้งการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทั้ง 100% ​โดย​วาง  Action Plan เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งจากมิติของการมีนโยบายที่สนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs การพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น แต่ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรลง รวมทั้งการร่วมปลูกฝังความตระหนักและแนวคิดด้านความยั่งยืนไปสู่วงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ ที่มีแนวคิดทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคม

ชู Product Excellence สร้างคุณค่าความยั่งยืน

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอปสันใช้หลักความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ตลอดจนถึงขั้นตอนบรรจุห่อและโลจิสติกส์ เพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะมีส่วนร่วมกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี Heat-Free ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์สำนักงาน ซึ่งไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ ซึ่งช่วยลดความร้อนในที่ทำงาน จึงช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟ ลดค่าซ่อมบำรุง และลดชิ้นส่วนสิ้นเปลือง ได้มากกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ถึง 85%  รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 85% เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังเตรียมทำตลาดเครื่อง PaperLab ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมในการจัดการกระดาษเอกสารรีไซเคิลภายในองค์กรให้เป็นกระดาษแผ่นใหม่ภายในเครื่องเดียว ช่วยลดการสร้างขยะจากเอกสารเก่าขององค์กรที่ก่อนหน้านี้ต้องนำไปทำลาย รวมทั้งการขนส่งในกระบวนการซึ่งมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดขึ้น แต่การมีเครื่องรีไซเคิลเช่นนี้ภายในองค์กร จะสามารถรีไซเคิลกระดาษใช้แล้วให้กลายเป็นกระดาษแผ่นใหม่ได้ทันที​ จากกระบวนการผลิตกระดาษใหม่​ ที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การย่อยให้เป็นเส้นใย (Defibrating) การผสานเส้นใย (Binding) และการขึ้นรูปกระดาษ (Forming)

การทำงานของ PaperLab จึงถือว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง เพราะใช้เทคโนโลยี Dry Fiber ของเอปสัน ซึ่งไม่มีการใช้น้ำในกระบวนการผลิต ต่างจากการรีไซเคิลกระดาษแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้น้ำ จึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า ยังช่วยรักษาความลับขององค์กรได้อย่างสูงสุด เพราะข้อมูลสำคัญต่างๆ ภายในกระดาษจะถูกทำลายและย่อยสลายไปในกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด​สมบูรณ์แบบ

PaperLab นวัตกรรมเครื่องผลิตกระดาษจากกระดาษรีไซเคิล

หนุน SME ร่วมส่งต่อแนวคิดรักษ์โลก

นอกจากการพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ให้มีความ Eco friendly มีประสิทธภาพสูง และลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงแล้ว ในเชิงนโยบายก็พยายามกำหนดแนวทางให้พนักงาน ผู้บริหาร และทุกภาคส่วนปรับพฤติกรรม และมีความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่สามารถทำได้ทุกวันเพื่อมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลดการใช้พลาสติกในองค์กร ลดการใช้พลังงาน หรือแม้แต่การลดการเดินทางไปทำงานหรือประชุมในต่างประเทศของผู้บริหาร แต่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงานแทน เพื่อลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์

เอปสันยังศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อสนับสนุนตลาด Refurbished หรือการซ่อมเครื่องพริ้นเตอร์เก่า ที่มีอายุการใช้งานมาในระดับหนึ่งเพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อไป ซึ่งนอกจากลดการใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิตและเกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่าการผลิตใหม่ ยังดีในเชิงธุรกิจเพราะสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าไว้ได้ แต่ประเด็นนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์  หรือ eWaste ซึ่งต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป ​

รวมไปถึง การเข้าไปมีส่วนสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้และสร้างแนวร่วมของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการ ให้นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยล่าสุดได้จัดงานสัมมนา หัวข้อ ‘Day One with Sustainability’ ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันขับเคลื่อน ทั้งภาคการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีความโดดเด่นในการที่โดดเด่นในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งสามแบรนด์ธุรกิจของคนไทย มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างความเติบโตจากแนวคิดความยั่งยืน ได้แก่ SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักโลก , Maddy Hopper แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติของไทย และ Qualy  แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านจากวัสดุรีไซเคิล ที่ตีตลาดสำเร็จจากทั่วโลก มาร่วมมอบความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจต่อนักศึกษา ในการนำนแนวคิดด้านความยั่งยืนไปต่อยอดใช้สร้างธุรกิจใหม่ๆ ของตนเอง หรือต่อยอดธุรกิจของครอบครัวต่อไปในอนาคต

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักโลก , Maddy Hopper แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติของไทย

“การเข้ามาสนับสนุนโครงการ ‘Day One with Sustainability’ สะท้อนถึงการเปลี่ยนจากการวางคอนเซ็ปต์​หรือแผนงานต่างๆ มาสู่การลงมือทำ โดยมากกว่าแค่การขับเคลื่อนภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยปลูกฝังและกระตุ้นแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปสู่เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มที่จะกลายมาเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ มาป้อนให้ตลาด ถ้าฝั่งผู้ผลิตมีความตระหนัก และแนวคิดนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของทุกธุรกิจก็จะทำให้อนาคตสินค้า Eco-friendly ก็จะมีจำนวนมากขึ้น ตลาดขยายตัว ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกในตลาดสินค้าที่ยั่งยืนที่หลากหลาย และช่วยเพิ่ม  Economy of scale ทำให้สินค้ารักษ์โลกมีราคาถูกลงและคนทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในที่สุด”​  

ทั้งนี้ งานสัมมนาในหัวข้อ ‘Day One with Sustainability’ หรือ  ‘ก้าวแรกธุรกิจด้วยความยั่งยืน’ อีกหนึ่งเวทีที่ช่วยฉายภาพและถ่ายทอดเรื่องราวการใช้แนวคิดด้านความยั่งยืนมาสร้างธุรกิจให้สำเร็จจนเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่  มีกำหนดการจัดงานสัมมนาครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ ห้องเรียนรวม 10201 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565  และ งานครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ณ ห้อง A3-301 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้

Stay Connected
Latest News