ตลาดเสื้อผ้ารีไซเคิลโตพุ่งทั่วโลกปีละกว่า 10% พร้อม 3 ปัจจัยหนุนตลาดเติบโต ทั้งกระแสสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงจากวัตถุดิบ และการพัฒนาเทคโนโลยี

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับที่ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง โดยมีการปล่อย Co2 ราว 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือราว 8-10% ของการปล่อย Co2 ทั่วโลก

นอกจากนี้ยังใช้วัตถุดิบและน้ำในขั้นตอนการผลิตที่มีปริมาณสูง โดย UNESCO-IHE ชี้ว่า การผลิตเสื้อยืด 1 ตัว ต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่าปริมาณน้ำสำหรับบริโภคต่อคนได้ถึง 3 ปี  รวมทั้งสารเคมีในการฟอกย้อมยังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำราว 20% ของน้ำเสียทั่วโลก

ขณะที่การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการปลูกฝ้ายและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอนาคต ความต้องการเสื้อผ้าที่สูงขึ้นตามกำลังซื้อของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้น ​ยิ่งส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้วงการแฟชั่นทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเทรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ​

 

​ตลาดทั่วโลกโตพุ่งปีละ 10%

Krungthai COMPASS มองว่า Textile Recycling หรือเสื้อผ้ารีไซเคิลจะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการแฟชั่น โดยในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกคาดว่าจะสูงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.7% จากปี 2565  ซึ่งมีมูลค่า​ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตเร็วที่สุดในช่วงปี 2565-2575 โดยเฉพาะในอินเดียและจีน มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยถึง 15.2% และ 13.6%​ ตามลำดับ เนื่องจากบริษัท Startup ในอินเดียมีการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลเสื้อผ้ามากขึ้น ขณะที่จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดหาสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เอื้อต่อการนำสิ่งทอกลับมาผลิตใหม่ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท หรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเสื้อผ้าจากเส้นใยรีไซเคิลยังคงมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าใหม่ เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการคัดแยกส่วนประกอบและสีของเสื้อผ้า เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นที่สม่ำเสมอสำหรับการรีไซเคิล แต่ในอนาคตคาดว่าต้นทุนจะลดลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ สนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล รวมทั้ง​ผู้บริโภคยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้น​ ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเสื้อผ้าทั้งไทยและ​ต่างประเทศ มีผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทมีเป้าหมายการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้ารีไซเคิล 100% ในช่วง 3-8 ปีข้างหน้า เช่น Zara และ H&M เป็นต้น

ทาง Krungthai COMPASS  ยังมองว่าการผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อยืดจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จะช่วยให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 3% ต่อตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรของเสื้อยืดทั่วไป นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 45% ต่อปี แต่ยังมีความท้าทาย​สำหรับผู้ประกอบการไทย คือ ปัญหาความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100%

3 ปัจจัยหนุนการเติบโต

1. ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม

การผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าทั่วไป และยังตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคสนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเติบโต​​ สะท้อนจากผลสำรวจของ McKinsey & Company (2022) ชี้ว่า 54% ของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น และการสำรวจของ PR Newswire (2019) ชี้ว่า 83% ของผู้บริโภคชาวจีนจะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น​

นอกจากนี้ The European Apparel and Textile Confederation (2022) ยังชี้ว่า เกือบครึ่งของผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้าค้าปลีกในยุโรป​จะมีผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามากกว่า 30% ที่ผลิตมาจากเส้นใยรีไซเคิลภายในปี 2568  สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น​

2. ลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบเสื้อผ้าที่มีความผันผวน

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรอย่างฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเสื้อผ้าทั่วโลก เนื่องจากการเพาะปลูกฝ้ายจำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมาก ทำให้ราคาฝ้ายมีความผันผวนและยังอยู่ในระดับสูง การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ

รวมทั้งการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ไทยจำเป็นต้องนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ อินเดีย และจีนมากถึง 99% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดเพื่อนำมาผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากไทยผลิตฝ้ายได้เพียงปีละประมาณ 1,200 ตันเท่านั้น

3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นปัจจัยเร่งต่อการเติบโตของตลาด ​และจะทำให้ต้นทุนในการรีไซเคิลสิ่งทอมีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจาก Dealroom พบว่า มูลค่าเงินลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวกับ Textile Recycling เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 มีเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีมูลค่าเพียง 569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Stay Connected
Latest News