Thailand’s Unsustainable Development Review ส่อง 10 ความท้าทาย ดึงประเทศไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

SDG Move จัดทำแบบสำรวจการรับรู้ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของไทย ผ่านการทำแบบสอบถาม “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหน ในสายตาคุณ” ช่วงระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 ผ่านการส่งแบบสอบถามให้เปิดทำแบบสาธารณะ จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 227 คน

พร้อมท้ังการประมวลผลร่วมกับรายงาน Sustainable Development Report 2022 โดย SDSN รายงานความก้าวหน้า SDGs ของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ทั้งนี้ ทาง SDG Move  ได้สรุปประเด็นที่ผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าถดถอยมากที่สุด 10 อันดับ 12 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1. การทุจริตและการติดสินบน 

นับเป็นประเด็น มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 88 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 คะแนน ​สอดคล้องกับข้อมูลของ SDG Index ปี 2565 ที่พบว่าประเทศไทยมีความท้าทายอย่างมากใน SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง เรื่องดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption perception index: CPI) ติดอันดับตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มที่แย่ลง อันดับที่ 7 ของข้อมูล SDG Index ปี 2564 ด้วยเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและข้อมูลแนวโน้มความยั่งยืนในประเด็นการทุจริตและการติดสินบน มีความเห็นตรงกันว่า “มีแนวโน้มแย่ลง”

2. ความรุนแรงสุดโต่ง

มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 70 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 คะแนน โดยมีข้อเท็จจริงสะท้อนประเด็นที่น่าสนใจ เช่น กรณีเหตุการณ์กราดยิง ซึ่งจากข้อมูลของ World Population Review ประจำปี 2565 เผยผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 กลับพบว่าประเทศไทย ติดอันดับที่ 15 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน สอดคล้องกับปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น เหตุกราดยิงโคราช  ปี 2563  มีผู้เสียชีวิต 30 ราย เหตุกราดยิงจังหวัดหนองบัวลำภู ปี 2565 มีผู้เสียชีวิต  36 ราย และเหตุกราดยิงสายไหม ปี 2566 มีผู้เสียชีวิต  3 ราย โดยที่ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงขาดมาตรการบังคับใช้กฎหมายการถือครองอาวุธปืนที่เข้มงวดและมาตรการป้องกัน รับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

 

3. ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ ​

มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 75 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.97 คะแนน สอดคล้องกับข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ระบุว่า ในความเสี่ยงมิติสังคม “วิกฤตค่าครองชีพ” จะติดอันดับ 1 ความเสี่ยงระยะสั้นที่มีโอกาสรุนแรงที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ ผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานว่า แรงงานไทยดำรงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำต่อวันที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เนื่องด้วยราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่นเดียวกันกับ ข้อมูลของรายงาน Area Need ที่ระบุว่า ในมิติเศรษฐกิจ พื้นที่มีความต้องการระดับภาคในการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สวนทางกับค่าจ้าง นั่นแปลว่า ประชาชนมีรายได้เท่าเดิมในขณะที่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น ทำให้ประชาชนอาจต้องเผชิญกับภาวะหนี้ครัวเรือนและปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา

4. การจัดการกับมลพิษทางอากาศ 

มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 70 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.99 คะแนน ตรงกับข้อมูลรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 ที่จัดทำโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ​ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 รุนแรงขึ้นทุกปี ซึ่งรายงานสถานการณ์มลพิษของไทยปี 2562 มีการวัดค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมงสูงกว่าค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่และนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ  โดยสถานการณ์ของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่แย่ลงต่อเนื่องหลายปี โดยในปีนี้ 2556 สถานการณ์ฝุ่นปีนี้รุนแรงอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ จากรายงานคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน IQAir ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง  มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ค่าฝุ่นอยู่ในระดับอันตรายอย่างมาก และสูงกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว  ซึ่งจากผลการสำรวจและข้อมูลดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แม้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกและประชาชนยังคงมองว่าเป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขน้อยที่สุดไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป

5. ความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม 

เช่น การซ้อมทรมาน การบังคับตรวจ DNA และการอุ้มหาย  มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่  5 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 62 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 คะแนน สะท้อนจาก ข้อมูลดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2565 จัดทำโดยกลุ่มนักวิจัย The World Justice Project พบว่า ประเทศไทย ได้คะแนนจากดัชนีหลักนิติธรรม เพียง 0.50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน จัดอยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก ซึ่งแสดงว่าประเทศไทย มีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด นับเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่ยังคงน่ากังวล สอดคล้องกับผลสำรวจที่ประชาชนได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาน้อยที่สุด โดยสะท้อนได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น กรณี การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การทุจริตของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ความลักลั่นในการปฏิบัติและกำหนดโทษผู้ต้องหา รวมถึงการซ้อมทรมาน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นผลให้ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาไม่สามารถไปถึงจุดที่สร้างความสงบสุขและยุติธรรมได้อย่างยั่งยืน

6. ความขัดแย้งจากการเมืองระดับท้องถิ่น

มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 56 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.05 คะแนน แม้ไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกระบุข้อมูลเชิงสถิติโดยตรง แต่เป็นประเด็นที่ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ถูกสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น การแบ่งพรรคพวกในชุมชน การกีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิหรือสวัสดิการ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อย ทำให้การเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยขาดความชอบธรรมในการสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

7. การรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์

มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 76 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07 คะแนน สอดคล้องกับข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ระบุว่า เทคโนโลยี จะทำให้ความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงจากความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล และเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนหลายคนประสบกับภัยคุกคาม เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การถูกหลอกลวงจากข้อความ  (SMS) การถูกโกงเงินทางอินเทอร์เน็ต อันเป็นเรื่องยากที่จะรับมือและยังคงขาดมาตรการในการจัดการอย่างแน่ชัดทำให้แนวโน้มในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงยังคงอยู่ในระดับที่ถดถอยมาก

8. การแพร่ระบาดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด และ ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น

โดยทั้ง 2 ประเด็น มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.09 ​​โดยปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้น จากรายงานยาเสพประเภทติดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การพัฒนาและความท้าทายล่าสุด ปี 2565  ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ซึ่งข้อมูลระบุว่า จำนวนยาบ้าที่ยึดครองได้จากปี 2563 ถึงปี 2564 ของประเทศไทย เพิ่มขึ้น 29.4% ซึ่งลาวกลายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญสำหรับการค้ายาเสพติดในประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของตลอดแม่น้ำโขง รวมถึงเอเชียแปซิฟิก สอดรับกับความคิดเห็นของประชาชนที่ยังคงเห็นด้วยว่าเป็นปัญหาที่มีความถดถอยมาก

ส่วนปัญหารราคาไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งพลังงานเป็นสินค้าและบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องแบกรับภาระราคาพลังงานสูงขึ้น และอาจไม่เอื้อต่อการเข้าถึงต่อคนทุกคนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

9. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น และ ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

โดยทั้ง 2 ประเด็น มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 9  ด้วยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 คะแนน โดยปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น​ ถูกสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม เช่นกรณี การปิดกั้นการทำงานสื่อมวลชน การปกปิด/ไม่เปิดเผยข้อมูลของรัฐ ซึ่งแท้จริงแล้ว ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือ สิทธิที่จะได้รู้ (right to know) ตามที่ได้ระบุการยอมรับในเอกสารทางระหว่างประเทศ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (The Human Rights Council) เมื่อปี 2563 พร้อมทั้งยังถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ฉบับปัจจุบัน) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพบว่าประชาชนยังคงถูกจำกำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง หรือ การรับรู้ข้อมูลจากทางภาครัฐ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนเข้าถึงได้รับทราบโดยทั่วกัน

ส่วน​สิทธิในกระบวนการยุติธรรม​ เช่น สิทธิประกันตัว, การถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์, การคุกคามพยาน  สอดคล้องกับสถิติที่น่าสนใจอย่าง กรณีการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า มีความพยายามยื่นประกันตัวกว่า 78 ครั้ง ซึ่งมีผู้ต้องขัง 4 รายที่ขอประกันตัวมากกว่า 18 ครั้ง ซึ่งยังคงมีผู้ต้องสงสัยจำนวนมากไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ทั้งที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยซ้ำ ทำให้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นปรากฏการณ์ปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน

10. การกำหนดกติกาการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 31 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.15 คะแนน จากข้อมูล กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง พบว่า การเปลี่ยนแปลงการไหลบริเวณแม่น้ำโขง ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและปริมาณตะกอนหายไป จากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขง ทั้งในแม่น้ำโขงสายหลักในจีน ลาว และบนลำน้ำสาขาในลาว รวมทั้งกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2536 และรุนแรงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น น้ำระดับน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติในฤดูแล้ง การสูญเสียพื้นที่เกษตรริมโขง และน้ำโขงไม่ไหลเข้าลำน้ำสาขา ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศภายในพื้นที่

อย่างไรก็ดี นอกจากผลสำรวจทั้ง 10 อันดับ ผู้ตอบแบบสำรวจได้เสนอประเด็นเพิ่มเติมอื่น ๆ  ที่มองว่าเป็นประเด็นที่มีความถดถอยในการแก้ปัญหา เช่น ประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกก็ต่างให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือ ประเด็น ‘สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล’  ซึ่งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุม นับเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนหวังจะได้รับ เป็นต้น

ที่มาข้อมูล  : SDG MOVE

Stay Connected
Latest News