Top StoriesTrending

ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป เปิดแผนเติบโต 30% ​ลงทุนครัวกลางเฟส 3 เร่งขยายแบรนด์ศักยภาพสูง​ ​พร้อมเผยกลยุทธ์บาลานซ์​ ‘ความคุ้มค่า’ และ การรักษา ‘กำไร’ ธุรกิจร้านอาหาร

หนึ่งในต้นทุนหลักสำคัญของ ‘ร้านอาหาร’ คือ วัตถุดิบ ขณะที่การเติบโตในแต่ละปีจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี การบริหารจัดการเพื่อสามารถรักษา Bottom Line หรือกำไรสุทธิในธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ​

อีกหนึ่ง Case Study จาก บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เชนร้านอาหารญี่ปุ่นที่โดดเด่นในการขยายแบรนด์สไตล์ Specialty Japanese Food โดยเฉพาะกลุ่มซูชิสายพาน​ และการนำแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นใหม่ๆ ที่เน้นการตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่าในทุกเซ็กเม้นต์ ไม่ว่าจะเป็น Mass Target ผ่านแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ‘ (Shinkanzen Sushi) , Premium Target ผ่านแบรนด์ ‘นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟ่ต์’ (NAMA Japanese and Seafood Buffet) และแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล หลังเปิดให้บริการได้เพียงไม่นานในตลาด Premium-mass Target อย่างแบรนด์ ‘คัตสึมิโดริ ซูชิ’ (Katsu Midori Sushi) รวมทั้งยังมีการพัฒนาอาหารไทยภายใต้แบรนด์ ‘นักล่าหมูกระทะ’ (Nak-La Mookata) มาเติมพอร์ตให้มีความหลากหลายมากขึ้น

เป้าหมายของบริษัท จากการเปิดเผยของ คุณชนวีร์ หอมเตย และ คุณศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด คือ การขึ้นเป็นผู้นำในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น จากปัจจุบันประเมินว่าน่าจะอยู่ใน Top 5 ของตลาด หลังเริ่มบุกเบิกแบรนด์แรกอย่างชินคันเซ็น เมื่อราว 11 ปีที่ผ่านมา จากการเป็นร้านซูชิเล็กๆ ในปี 2558 และเติบโตได้อย่างโดดเด่นจนสามารถดึงดูดยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป’ หรือ CRG ให้เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 51% เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 หรือราว 3 ปีกว่าที่ผ่านมา พร้อมการขยายแบรนด์เพิ่มขึ้นในทุกเซ็กเม้นต์ของตลาดอาหารญี่ปุ่น

รวมทั้งยอดขายที่ขยับขึ้นมาแตะพันล้านรวมทั้งการรักษาอัตราการเติบโตของกำไรได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเช่นกัน โดยเห็นสัญญาณชัดเจนมากขึ้นหลังจากการร่วมทุนกับทาง CRG จากผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ก่อนร่วมทุนในปี 2564 ด้วยจำนวนรายได้ 737 ล้านบาท และกำไร 46 ล้านบาท

ขณะที่ในปี​ 2565 รายได้เพิ่มขึ้นแตะ 797 ล้านบาท และกำไร 64 ล้านบาท,  ปี 2566 รายได้ 1,415 ล้านบาท กำไร 116 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปีล่าสุดเติบโตได้เพิ่มขึ้น 50% ด้วยยอดขาย​ 2,100 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2568 นี้ ไม่ต่ำกว่า 30% หรือทำรายได้แตะ 2,800 ล้านบาท โดยประเมินการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอดขายจะเติบโตได้เพิ่มขึ้นราว 5,000 ล้านบาท

สร้างบาลานซ์ระหว่าง ‘ความคุ้มค่า’ และ  ‘กำไร’

สำหรับความยากลำบากของผู้ประกอบการร้านอาหารในปีนี้ มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นซึ่งค่อนข้างเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูง เช่น ราคาปลาแซลมอน​ซึ่งนับตั้งแต่เปิดให้บริการชินคันเซ็นสาขาแรก จนถึงปัจจุบันราคาปรับเพิ่มมากขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 50%  นอกจากนี้ ยังมีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ข้าว ชาเขียว ​ไข่หอยเม่น หรืออูนิ ไข่ปลาแซลมอน ซึ่งไม่เพียงราคาแพงขึ้นแต่ยังบางอย่างยังมีซัพพลายที่ค่อนข้างจำกัด รวมไปถึงต้นทุนด้านพลังงาน การบริหารจัดการต่างๆ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว​ ทำให้กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค ทำให้ท้ังจำนวนทราฟฟิก ความถี่และการใช้จ่ายภายในร้า​นก็กระทบด้วยเช่นกัน ทำให้การรักษาการเติบโตและตัวเลขกำไร จึงยิ่งเป็นความท้าทายเพิ่มมากขึ้น

คุณชนวีร์ และ คุณศุภณัฐ อธิบายถึง การรักษา Bottom Line ผ่านการบริหารจัดการต้นทุน​ เพื่อดูแล Cost Efficiency โดยในส่วนของวัตถุดิบ จะมุ่งเน้นข้อได้เปรียบของ Economy of Scale ผ่านปริมาณการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทใช้แซลมอนซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักอยู่ที่ราว 2,000 ตัวต่อสัปดาห์ รวมทั้งการทำสัญญาสั่งซื้อกับทางซัพพลายเออร์ เพื่อป้องกันปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและสามารถต่อรองได้ในราคาที่ดี รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธภาพตามแนวทาง Zero Food Waste โดยใช้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การแล่เนื้อปลาจนหมด ขณะเดียวกันยังทำการขูดเนื้อปลาในส่วน​ที่ติดกับก้างเพื่อนำไปทำ By Product เพิ่มเติมเช่น แฮมเบิร์ก หรือเนื้อสเต็กแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำมาจากเนื้อปลาแซลมอน ขณะที่ก้างปลาก็นำส่งขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อไม่ให้มีส่วนใดที่ต้องเหลือทิ้งเป็นขยะ และยังช่วยเพิ่มยีลด์ หรือความสามารถในการทำกำไรได้อีกไม่ต่ำกว่า 1% พร้อมช่วยลดต้นทุนลงได้มากกว่า 10 ล้านบาท

ขณะที่ต้นทุนด้านพลังานก็มีการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในร้านและครัวกลาง การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อนำพลังงานทดแทนมาใช้ ​รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่ใช้ภายในครัวกลาง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตได้มากขึ้น และรองรับการเติบโตของธุรกิจได้มากขึ้น โดยในปีนี้จะมีการลงทุนในเฟสที่ 3 ของครัวกลางด้วยงบ 30 ล้านบาท เพื่อขยายทั้งพื้นที่และกำลังผลิตอีก40% ให้สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอีกได้ราว 3 ปี

​”ในส่วนของการรับมือต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะเน้นการใช้เครื่องมือทางการตลาดเพื่อให้แบรนด์มีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอกย้ำความคุ้มค่าของคุณภาพวัตถุดิบ และราคาที่สามารถจับต้องได้ การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอให้สดใหม่ มีเมนูที่น่าสนใจ และตอกย้ำความเป็น Specialty ด้านซูชิสายพาน ที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง​การทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายผ่านการจัดเซ็ตเมนูที่คุ้มค่ามากขึ้น การมอบส่วนลดให้ลูกค้าสมาชิก หรือมีโปรโมชันนาทีทอง รวมไปถึงการ Collaboration กับแบรนด์ชั้นนำที่หลากหลาย และการทำโปรโมชั่นกับผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ ​เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ตลอดจนสร้างกระแสในร้านอาหารญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง”  

ลงทุนเพิ่ม 200 ล้านบาท ขยายเพิ่ม 16 สาขา 

สำหรับแผนขยายการเติบโตในปีนี้ของ เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่ม 15 – 16 สาขา ภายใต้งบลงทุนรวม​ 200 ล้านบาท สำหรับทั้งการขยายสาขาใหม่ และขยายกำลังผลิตครัวกลางในเฟสที่ 3 เพิ่มอีก 40% โดย​เน้นขยายในแบรนด์หลักที่จะสร้างการเติบโต ได้แก่ นักล่าหมูกระทะ และแบรนด์ใหม่ล่าสุดอย่างคัตสึมิโดริ ซูชิ  จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมดรวมกันทั้ง 4 แบรนด์ จำนวน 70 สาขา โดยมีรายละเอียดการขยายสาขาแต่ละแบรนด์ ดังนี้

– ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi) : ร้านอาหารญี่ปุ่นที่โดดเด่นด้วยคุณภาพของอาหารในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย พร้อมเมนูหลากหลายที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และถือเป็นแบรนด์หลักของบริษัทปัจจุบันมีสาขา 57 แห่ง ทำให้ปีนี้จะชะลอการขยายลงเหลือราว 5 สาขา โดยเน้นต่างจังหวัดและเมืองรองเป็นหลัก รวมทั้งในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสาขาให้บริการ โดยใน กทม. และปริมณฑลจะขยายเพียง 1-2 แห่ง เท่านั้น ขณะที่วางแผนระยะยาวในการขยายสาขาให้ครบ 100 สาขาในอนาคต

– นักล่าหมูกระทะ (Nak-La Mookata) : นำเสนอประสบการณ์ใหม่ในการทานหมูกระทะ แก้ปัญหาความร้อนและกลิ่นควันติดตัว ด้วยการติดแอร์ และฮู้ดดูดควัน รวมถึงบริการฟรีบาร์ผัก และน้ำจิ้มที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกทานได้ไม่อั้น เปิดให้บริการยาวถึงตี 2 ตอบโจทย์ลูกค้าสายนอนดึก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ตอบโจทย์ตลาดจนสามารถเติบโตได้ดี​ และมีแผนขยายเพิ่มเติมในปีนี้ค่อนข้างก้าวกระโดดที่ราว 10 สาขา จากปีที่ผ่านมาขยายไป 6​ แห่ง และมีสาขารวมที่ 12 แห่ง ทำให้ในปีนี้จะมีสาขากว่า 20 แห่ง และเพิ่มเป็น 40 แห่ง ภายใน 5 ปี

– นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟ่ต์ (NAMA Japanese and Seafood Buffet): ร้านบุฟเฟ่ต์ที่มีไลน์อาหารพรีเมียม และบาร์ DIY ที่สามารถตักอิคุระได้ไม่อั้น ซึ่งได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ ปัจจุบันให้บริการ 1 สาขา ที่ชั้น 24 โรงแรมเซ็นทารา แอทเซ็นทรัลเวิลด์ และสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้กว่า 1 พันคน ทำให้มีแผนจะขยาย Store Format รูปแบบเอ้าดอร์ สำหรับการให้บริการสไตล์อิซากายะเพิ่มเติม

– คัตสึมิโดริ ซูชิ (Katsu Midori Sushi): แบรนด์ใหม่ล่าสุด​​​​ที่มีเอกลักษณ์จากการจัดกิจกรรมภายในร้าน และ​ใช้วัตถุดิบสดใหม่ นำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มความพิเศษให้กับทุกการรับประทาน เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาเติมพอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่นของเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ระหว่างตลาดพรีเมียมและแมส เพื่อเพิ่มการเติบโตและเติมพอร์ตให้ครบทุกเซ็กเม้นต์ ​ปัจจุบันให้บริการแล้ว 1 สาขา ตั้งเป้าจะขยายการให้บริการเพิ่มเติมในปีนี้อีก 1-2 สาขา และมีแผนเพิ่มให้ครบ 20 สาขา ภายใน 5 ปี

“บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ​​ในการนำธุรกิจอาหารที่คุ้มค่า และมอบประสบการณ์​ที่แตกต่าง มาเพิ่มในพอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นที่ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่น่าสนใจ รวมไปถึงอาหารในกลุ่มใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคนิยมากขึ้น เช่น อาหารเกาหลี เพื่อเติมพอร์ตโฟลิโอให้น่าสนใจ รวมทั้งขยายการเติบโตของแบรนด์ที่มีศักยภาพภายในพอร์ต​ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันรายได้​หลักในพอร์ตมาจากกลุ่มอาหารญี่ปุ่นทั้งชินคันเซ็น นามะ และคัตสึมิโดริ ราว 85% ขณะที่อาหารไทย จากแบรนด์นักล่าหมูกระทะที่ 15% ขณะที่แผนจาการเร่งขยายสาขานักล่าหมูกระทะในปีนี้จะทำให้สัดส่วนอาหารไทยเพิ่มเป็น 20% ขณะที่แบรนด์น้องใหม่ล่าสุดอย่างคัตสึมิโดริ จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง 1 สาขา​ ให้เพิ่มเป็นราว 10% ในสิ้นปีนี้”