ถุงหิ้วสีรุ้งของอิเกีย กับความหลากหลาย เท่าเทียม และเสมอภาค พร้อมขับเคลื่อนสู่องค์กรแห่งความสุข

หลายท่านคงได้เห็นถุงหิ้วสีรุ้ง เวอร์ชันลิมิเต็ดล่าสุดจากทางอิเกีย  ที่ผลิตขึ้นมาและเริ่มลอนช์ในวันไอดาฮอท (IDAHOT) ​ซึ่งเป็นวันที่รณรงค์เกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียมกันให้แก่กลุ่ม LGBTQ  ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี รวมถึงเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายนอีกด้วย ​และอาจจะทราบดีถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ของสีรุ้ง​ ซึ่งสะท้อนถึงการสร้างความเท่าเทียมกัน

ขณะที่อิเกียได้ใช้โอกาสนี้จัดแคมเปญ​ “Make The World Everyone’s Home บ้าน…ที่ทุกคนเป็นตัวเองได้เต็มที่” เพื่อสื่อสารถึงวัฒนธรรม และคุณค่าขององค์กร ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลาย ความเท่าเทียม และความเสมอภาคในองค์กร ​โดยออกสินค้ารุ่นพิเศษ ที่ใช้สัญลักษณ์ธีมสีรุ้งมาเป็นไฮไลท์ โดยเฉพาะหนึ่งในไอเท็มเด่นของแบรนด์​ที่คุ้นตากันดีคือ กระเป๋าอิเกีย กระเป๋าชอปปิ้งสีฟ้าใบใหญ่ ที่เมื่อเห็นคนถือก็สามารถ Represent ได้ถึงความเป็นอิเกีย จึงไม่พลาดที่จะหยิบมาเพื่อสะท้อนการสนับสนุนในการยอมรับความแตกต่าง และเท่าเทียมกัน​ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับกระเป๋าสีรุ้งนี้ มีชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการว่า “รุ่น STORSTOMMA/สตอร์สต็อมม่า”​ มี 2 ขนาด คือ 27x18x27 ซม. ราคา 59 บาท และ 55x37x35 ซม. ราคา 99 บาท ​โดยเริ่มจำหน่ายที่สโตร์อิเกีย และทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้จัดทำเสื้อยืดคอลเลคชั่นพิเศษ​ ดีไซน์ด้วยสัญลักษณ์สีรุ้ง ​ สกรีน  “Make the world everyone’s home” ราคา 299 บาท นำรายได้ทั้งหมดที่จำหน่ายได้ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2565 โดยไม่หักค่าใช้จ่าย​ ​ร่วมบริจาคให้สมาคมฟ้าสีรุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมกันมาเป็นะระยะเวลานาน ​

ขณะที่แคมเปญ  “Make The World Everyone’s Home บ้าน…ที่ทุกคนเป็นตัวเองได้เต็มที่”​ ​ เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์องค์กร  “สร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไปในทุกๆ วัน”  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการคิด การทำงานของอิเกียในทุกแง่มุม รวมถึงวัฒนธรรมที่เคารพทุกความแตกต่างของทุกคน ไม่ว่าจะทางด้านอายุ ภาษา วัฒนธรรม เพศวิถี ศาสนา หรือความแตกต่างของร่างกาย เพื่อให้อิเกียเป็นองค์กรที่เปิดกว้างพร้อมที่จะต้อนรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ยั่งยืนมากกว่า ถ้าขับเคลื่อนองค์กรด้วยความสุข

คุณลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวถึง ทิศทางการรขับเคลื่อนธุรกิจอิเกีย จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียม หลากหลาย และเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจไปในพื้นที่ใดๆ ก็จะเปิดโอกาสให้คนในประเทศนั้นๆ สามารถเป็นผู้บริหาร รวมทั้งการสร้างความเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารได้ไม่ต่างจากผู้ชาย โดยสัดส่วนพนักงานชายและหญิงมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการดูแลทั้งโอกาสในการเติบโต รวมทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานอย่างเหมาะ เช่น การอนุญาตให้พนักงานหญิง ลาคลอดได้ 4 เดือน ขณะที่พนักงานชาย ก็สามารถลาไปเพื่อดูแลครอบครัวหลังจากภรรยาคลอดได้ 1 เดือนเช่นกัน

นอกจากนี้ อิเกียยังให้ความสำคัญกับการเลือกบุคลากร โดยดูจากความสามารถที่เหมาะสมกับงาน และให้ความสำคัญกับคุณค่าของพนักงานทุกคนเป็นสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้เติบโตตามสายงาน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเพศใด สภาพร่างกายเป็นแบบใด หรือแม้แต่การดูแลสวัสดิภาพอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือพนักงานพาร์ทไทม์ ก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการและการดูแลไม่แตกต่างกัน รวมทั้งยังสนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งสัดส่วนพนักของอิเกีย ในประเทศไทย เป็นคนไทยถึง 95% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากที่สุดของอิเกีย​ รวมทั้งยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริหารผู้หญิงสูงมากที่สุด​อีกด้วย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งดัชนี​การวัดผลความสำเร็จในมิติที่สำคัญของอิเกีย นอกจากการเติบโตในเชิงธุรกิจแล้ว การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีความสุข เพื่อเป็นหนึ่งใน Employer of Choice หรือการเป็นองค์กรที่ผู้คนอยากจะมาร่วมงานด้วย เป็นอันดับต้นๆ และเปิดกว้างให้กับทุกความหลากหลายและแตกต่าง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีทั้ง Diversity-Equality-Inclusion ​ซึ่งในแต่ละปีทางอิเกียท่ัวโลก จะมีการสำรวจความคิดเห็นพนักงานมีต่อนโยบายด้านต่างๆ ขององค์กร ทั้งความหลากหลาย การเปิดโอกาส  เพื่อให้พนักงานให้คะแนนและประเมินความพึงพอใจที่มีต่อองค์กร โดยพนักงานส่วนใหญ่มีความรักองค์กร และยังคงมีความสุขในการทำงาน ซึ่งทางอิเกียจะพยายามรักษาและเพิ่มอันดับความพึงพอใจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแค่การดูแลพนักงานภายในองค์กรเท่านั้น แต่อิเกียยังให้ความสำคัญ​กับการมอบความสุขให้กับชุมชน​โดยรอบในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ

ขณะเดียวกัน อิเกียยังได้สะท้อนข้อมูลให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ คือ พนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานกับอิเกีย ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เพราะค่าตอบแทน และอิเกียก็เลือกที่จะไม่แข่งขันด้วยการจ่ายสูงๆ เพื่อดึงดูดคนเก่งมาร่วมงาน แม้ว่าอิเกียจะไม่ใช่สายเปย์ที่ให้ค่าตอบแทนสูงที่สุดในตลาด​​ แต่ก็จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานทุกคนอย่างเหมาะสม ทำให้พนักงานส่วนใหญ่มีความรักองค์กร และมีความสุขในการทำงาน ​รวมทั้งยังเลือกที่อยู่กับอิเกียต่อไป สะท้อนได้ว่า วัฒนธรรมในการทำงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อิเกียสามารถสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมกันได้มากกว่าแค่ปัจจัยจากเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ​ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

ส่วนมุมมองที่มีต่อประเทศไทย​เรื่องการให้ความสำคัญด้านความหลากหลาย เท่าเทียม และความเสมอภาค​ คุณลีโอนี่​ มองว่า “ประเทศไทยถือว่ามีความเปิดกว้างในประเด็นเหล่านี้ค่อนข้างมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากที่เคยได้มีโอกาสสัมผัสมาเลยทีเดียว”​​

Stay Connected
Latest News