นักวิจัยเผย ใช้ Plant-based เคลือบอาหาร อีกหนึ่งโซลูชันส์ลดพลาสติกห่อหุ้มอาหาร และ Food Waste ในอนาคต

การใช้พลาสติกหรือฟิล์มบางๆ อย่าง “พลาสติกแรป” เพื่อห่อหุ้มอาหารนั้น อาจมีประโยชน์ในแง่ของการถนอมอาหารเพื่อช่วยยืดอายุของวัตถุดิบอาหารนั้นๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ในขณะเดียวกันพลาสติกห่อหุ้มอาหารเหล่านี้ ก็ถือเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกและขยะอาหารในสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน  

เนื่องจาก นักวิจัยชี้ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มซื้อสินค้าอาหารเกินกว่าความจำเป็น เพราะความเข้าใจว่าการใช้พลาสติกห่อหุ้มอาหารไว้จะช่วยยืดอายุอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณ Food Waste เพิ่มมากขึ้น โด​ย 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาสำหรับการบริโภคทั่วทั้งโลกในแต่ละปีจะกลายเป็นขยะอาหาร คิดเป็นประมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเกิดจากการบริโภคจากครัวเรือนสูงที่สุด ตามมาด้วยจากธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก 

ล่าสุด ได้มีการเผยงานวิจัยจาก Rutgers University และ Harvard University ที่ร่วมกันพัฒนาสารเคลือบอาหารจากพืชสำหรับห่อหุ้มอาหาร (Plant-based coating) ที่อาจจะเข้ามามีบทบาทแทนพลาสติกแรปในอนาคต

สารเคลือบดังกล่าวได้รับการพัฒนาในรูปแบบ “สเปรย์” ที่ผลิตจากไบโอพอลีเมอร์และพอลีแซ็กคาไรด์ ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่พบทั่วไปในอาหาร และมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะปกป้องอาหารจากการเกิดรอยช้ำ รวมถึงสารต้านจุลินทรีย์ตามธรรมชาติต่างๆ (เช่น กรดซิตริก นิซิน และน้ำมันไทม์) ที่สามารถต้านแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นอันตรายนอกเหนือจากป้องกันการเน่าเสีย 

นักวิจัยได้ทดลองสเปรย์เคลือบอาหารกับผลอะโวคาโด ปรากฏผลว่าสามารถยืดอายุได้ประมาณ 50% เลยทีเดียว ทั้งยังสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ภายใน 3 วัน สำหรับวิธีทำความสะอาดสารเคลือบบนอาหารก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ล้างออกด้วยน้ำ 

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงคิดต่อยอดที่จะเปลี่ยนเส้นใยในสารเคลือบดังกล่าว ให้เป็นเซนเซอร์ที่สามารถกระตุ้นการกำจัดแบคทีเรียได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสเปรย์เคลือบอาหารที่ว่านี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มอาหารได้ แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ในแง่ของการพัฒนาเพื่อให้สามารถนำมาใช้แทนที่พลาสติกแรปแบบเดิมที่เราคุ้นเคยได้   

source

source

source

Stay Connected
Latest News