ทำความเข้าใจ ‘อินไซต์เจน Z’ ผู้บริโภคกลุ่มหลักในอนาคต​ และมุมมอง​ ‘ความยั่งยืน’ ที่ไม่ใช่เรื่องพิเศษ แต่เป็น ‘มาตรฐานขั้นต่ำ’ ที่ต้องมี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลถึงการเข้ามามีบทบาทอย่างมากของผู้บริโภคเจน Z  ในตลาดอเมริกาเหนือ โดยพบว่า ผู้บริโภคเจน Z  ที่มีอายุระหว่าง 10-25 ปี  หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 1995 -2010​ ​กำลังเป็นกลุ่มที่นักการตลาดให้ความสำคัญที่สุด

โดยมีสัดส่วนในตลาดแคนาดาสูงถึง 20% และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมากกว่าเจนก่อนหน้าอย่าง Millennials ทั้งจากการทำงานประจำ อาชีพเสริม หรือรายได้จากผู้ปกครอง  โดยตัวเลขจากปี 2021  Gen Z มีการใช้จ่ายทั้งปี สูงถึง 360 พันล้านเหรียญสหรัฐ (12.9 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ทัศนคติและพฤติกรรมมีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะการตื่นตัวและรับรู้ต่อปัญหาเรื่องสภาพอากาศ หรือ Climate Change ซึ่ง 72% เชื่อว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างมากในอนาคต โดยมีมุมมองต่อประเด็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability นั้น ไม่ใช่นโยบายสำคัญของธุรกิจ แต่ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เป็นความจำเป็นพื้นฐาน หรือเป็น ‘หน้าที่’ ​ที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องทำอยู่แล้ว​ ต่างจากกลุ่ม Millennials ที่มองว่าภาคธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแผนขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งสวนทางกับความเชื่อของนักการตลาดก่อนหน้าที่มองว่าทั้ง 2 เจนนี้ มีมุมมองต่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกัน

ลุ่มเจน Z ยังเชื่อมั่นในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และพร้อมเปิดใจทดลองสิ่งใหม่ๆ เช่น การยอมรับสินค้าในกลุ่ม Plant based, Meat Lab หรือสินค้า GMO ที่มาจากการตัดต่อพันธุกรรมของพืช ซึ่งมุมมองก่อนหน้านี้อาจตีความว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy Food) แต่คนในรุ่นเจน Z มองว่า เป็นวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถเข้ามาช่วยทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ และยังดีต่อสิ่งแวดล้อมมากว่า ทั้งจากการลดพื้นที่เพาะปลูก ลดการทำลายป่า และลดการใช้ทรัพยากรน้ำด้วย

ภาพ : สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

​นอกจากนี้ ด้วยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายช่องทาง และมีความเชี่ยวชาญในฐานะ Digital Natives ทำให้เจน Z ไม่ค่อยเชื่อถือหรือให้ความสำคัญกับสื่อโฆษณา แต่เลือกที่จะเชื่อ Influencer หรือการรีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า ทำให้สื่อโฆษณาต่างๆ อาจจะด้อยประสิทธิภาพในการโน้มน้าวคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการมีประสบการณ์ร่วมยังมีความสำคัญ ทำให้เจน Z นิยมใช้จ่ายจากช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปกับออฟไลน์ ในรูปแบบ Omnichannel Shopping Experience ที่ตอบโจทย์ทั้งความสะดวก โดยที่ยังสามารถเดินช้อปปิ้ง จับต้อง และมีประสบการณ์ร่วมกับสินค้าและบริการได้โดยตรง รวมทั้งอยากให้ร้านค้าต่างๆ สามารถรองรรับการชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบทั้งมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือแม้แต่โฮมช้อปปิ้ง หรือทีวีช้อปปิ้ง ผ่านระบบของสมาร์ททีวี

ซึ่งตามข้อมูลจากบริษัทวิจัย​ Hartman Group พบว่า Gen Z  มีการจับจ่ายใช้สอย ภายในห้างค้าปลีกเฉลี่ย 2.5 ครั้งต่อสัปดาห์  ขณะที่กลุ่ม Millennials (อายุ 26-41 ปี) ไปจับจ่ายเพียง 1.9 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วน  Gen X (อายุ 42-57 ปี) อยู่ที่ราว 1.5 ครั้งต่อสัปดาห์

Stay Connected
Latest News