ความจริงอีกด้าน​! MIT เผยดาร์กไซด์รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใช้พลังงานในระบบประมวลผลสูงกว่า Facebook ทั่วโลก 7-10 เท่า แถมสร้างคาร์บอนเท่าอาร์เจนติน่าทั้งประเทศ

ภาคขนส่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 30% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งโลก ขณะที่ 72% ของคาร์บอนที่ปล่อยออกมานั้น เกิดมาจากกการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล​ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ในการมองหาวิธีช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อให้การขับขี่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-driving car) เป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่ได้รับความสนใจอย่างมาก​ โดยปัจจุบันมีการใช้งานรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมากกว่า 30 ล้านคันทั่วโลก และคาดว่าจะเติบโตทวีคูณในอนาคต เนื่องจากค่ายรถยนต์หลายค่าย รวมถึง Tesla ได้ใช้เม็ดเงินมหาศาลสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนารถยนต์ประเภทดังกล่าว

แต่อีกด้านหนึ่ง จากการศึกษาของนักวิจัยจาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) ​พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะหากมีการใช้งานรถกลุ่มนี้ในวงกว้างมากขึ้น จะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากต่อปีจนเกินความสามารถในการควบคุมได้​ ​ซึ่งอาจจะมากกว่าปริมาณคาร์บอนที่อาร์เจนตินาทั้งประเทศปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศรวมกันในปัจจุบัน หรือเทียบเท่าได้กับการทำงานของระบบศูนย์ข้อมูลต่างๆ ของทั้งโลกรวมกันเสียอีก
 
Soumya Sudhakar หนึ่งในทีมวิจัยได้แสดงความกังวลว่า รถยนต์อัตโนมัติเหล่านนี้ จะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสภาพอากาศ เนื่องจากการขับเคลื่อนของรถยนต์อัตโนมัติ​ จะต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนกล้องในตัวและควบคุมอัลกอริธึมในการขับขี่ ซึ่งหากในอนาคตมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติในวงกว้างขึ้น คอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมการขับขี่ก็จะผลิตก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก เทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษทั่วโลกราว 0.3% โดยมีปริมาณเท่ากับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศอาร์เจนตินาทั้งประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทดลองผ่าน​แบบจำลองรถยนต์อัตโนมัติ​ 1 พันล้านคัน ​ใช้ระยะเวลาขับขี่ 1 ชั่วโมงต่อวัน​ ขับเคลื่อนด้วยคอมพิวเตอร์กำลังไฟ 840 วัตต์ พบว่า พลังงานที่ส่งไปเลี้ยงคอมพิวเตอร์ให้ทำงานจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 200 ล้านตันต่อปี ​ มีการใช้พลังงานเพื่อประมวลผลระบบขับขี่อัจฉริยะ (deep neural networks processing) ในการจากการประมวลผลภาพจากกล้องทั้งคัน ที่น่าจะมีราว 10 ตัว ถึงกว่า​ 21.6 ล้านล้านครั้งในแต่ละวัน ซึ่งมากกว่าการประมวลผลจากการทำงานของศูนย์ข้อมูล Facebook ทุกแห่งทั่วโลก ที่มีการประมวลผลรวมกันราว 2-3 ล้านล้านครั้งในแต่ละวัน หรือสูงกว่าราว 7-10 เท่า
 
ทั้งนี้ นักวิจัยมองว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ต่างๆ จะเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อาจมีมากเกินที่จะควบคุมได้  โดยทีมวิจัยยังพบอีกว่า กว่า 90% ของสถานการณ์จำลอง รถยนต์แต่ละคันต้องใช้พลังงานในการประมวลผลน้อยกว่า 1.2 กิโลวัตต์ ​เพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยหาก 95% ของทั่วโลกมีการใช้รถยนต์อัตโนมัติ ภายในปี 2050 การพัฒนาประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์จะต้องเกิดเร็วขึ้นในทุก ๆ 1.1 ปี เพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซมลพิษให้อยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าว  แต่ก็อาจจะต้องแลกกับความแม่นยำของระบบที่อาจจะลดลง และสุดท้ายก็จะกระทบต่อความปลอดภัยในการขับขี่ได้เช่นกัน​

นักวิจัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรากำลังหวังว่าผู้คนจะคิดถึงการปล่อยมลพิษและประสิทธิภาพของคาร์บอนเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการพิจารณาการออกแบบรถยนต์ การใช้พลังงานของรถยนต์อัตโนมัติเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ไม่ใช่เพื่อยืดอายุแบตเตอรี่เท่านั้น แต่เพื่อความยั่งยืนด้วยนั่นเอง”

source

source

Stay Connected
Latest News