“แม้พื้นฐานธุรกิจของเราจะเป็น Social Enterprise (SE) เป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่วิธีคิดในการขับเคลื่อนแบรนด์ให้เติบโต ไม่แตกต่างจากการสร้างแบรนด์ทั่วไป เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องลงแข่งในตลาดที่มีคู่แข่ง มีแบรนด์ต่างๆ ที่หลากหลาย ความแข็งแรงของแบรนด์ ดีไซน์ ฟังก์ชั่น รวมไปถึงการผลักดันให้แบรนด์เติบโตต่อเนื่องในทุกปี ล้วนมีความสำคัญ เพราะถ้าเราคิดแค่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งตอนนี้เราช่วยได้แล้ว แล้วเราจะพอแค่นี้ จบแค่นี้ ก็ไม่ใช่การช่วยเหลือที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”
แนวคิดในการบริหารแบรนด์ ‘good goods’ ของ คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ โครงการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อสนับสนุนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำกำไรที่ได้ท้ังหมดกลับไปพัฒนาชุมชน ทำให้นอกจากจะช่วยเหลือคุณภาพชีวิตให้ผู้คนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังช่วยรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปด้วย
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ good goods คือ การเติบโตไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือขยับจากการเป็นแบรนด์ไทย หรือแบรนด์เพื่อสังคมไปสู่การเป็น Global Brand ด้วยการส่งสินค้าภายใต้แบรนด์ good goods ไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างประเทศ โดยจะนำร่องจาก 3 ประเทศ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้าน ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยเฉพาะความนิยมของนักท่องเที่ยวจีนที่มีต่อ good goods จนติดอันดับ Top 5 สถานที่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเช็คอินเมื่อมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
“สินค้านำร่องที่เราพยายามพัฒนาเพื่อส่งไปขายต่างประเทศ จะเริ่มด้วยกลุ่มของกิน เช่น ขนมขบเคี้ยว หรือซอสปรุงรส ซึ่งเริ่มมีตัวแทนจำหน่ายในจีนติดต่อเข้ามาแล้ว แต่เราต้องการพัฒนาสินค้ารวมทั้งรสชาติให้มีความพร้อมมากกว่านี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้โดยเร็ว ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มโดยเฉพาะกาแฟ และโกโก้ ถือเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพระดับสูงไม่แพ้ต่างประเทศ แต่เรายังขาดเรื่องการตลาด และการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะต้องพยายามพัฒนาแบรนดิ้งกาแฟไทย โกโก้ไทย ให้เป็นที่รับรู้เพิ่มมากข้ึน เช่นเดียวกับชาไทย ที่สามารถสร้างแบรนดิ้งได้อย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าปั้นแบรนด์สู่ระดับ Global ได้สำเร็จภายใน 3-5 ปีนับจากนี้”
ส่วนกลุ่มสินค้า Fashion ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า จะเน้นทำตลาดในประเทศ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปเป็นของฝาก รวมทั้งจะมุ่งร่วมมือกับกลุ่ม Thai Designers เพื่อเป็นตัวกลางในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่านการเติมดีไซน์ที่มีความร่วมสมัย สวยงาม และตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ผ่านการพัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ๆ ราวปีละ 4-6 คอลเลคชั่น ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งการสนับสนุนชุมชน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้วัสดุจากการรีไซเคิล ตามแนวทาง Circular Economy เป็นต้น
คุณพิชัย มองว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ good goods มีความแข็งแรงคือ การสร้างความแตกต่างให้แบรนด์ ทำให้ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการเพิ่มสินค้าในกลุ่มเครื่องประดับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีแหล่งและกระบวนการผลิตจิวเวลรี่ที่มีคุณภาพทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย รวมทั้งใน กทม. โดยจุดเด่นจะเป็นเครื่องประดับที่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน มีฟังก์ชันใช้งานที่หลากหลายและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้
ต่อยอดผ้าครามไทย สู่คอลเลคชั่น good goods x MOO Bangkok
ล่าสุด good goods ได้เปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่อย่าง good goods x Moo Bangkok ภายใต้ความร่วมมือของดีไซน์เนอร์ไทยโดย คณหมู- พลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป เพื่อสร้างสรรค์สินค้าใหม่ร่วมกับ 3 ชุมชน จากโครงการเซ็นทรัล ทำ ได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าครองวิถี และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนางาม ในการผสมผสานเอกลักษณ์ผ้าย้อมครามแบบดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยในสไตล์ Urban ready to wear ภายใต้คอนเซ็ปต์ Eternal Sunshine สะท้อนความสดใส รอยยิ้ม และพลังบวกจากความสุขที่เรียบง่ายในชีวิต โดยดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้า สื่อถึงบรรยากาศอบอุ่นที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มให้กัน
อีกหนึ่งความพิเศษของคอลเลกชันนี้ คือ การสนับสนุนงานฝีมือไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทุกเทคนิคที่ใช้มาจากกระบวนการธรรมชาติ ทั้งการย้อมสี การเข็นฝ้ายด้วยมือ และการมัดย้อมเส้นใย และได้นำผ้า zero waste หรือเศษผ้าที่ถูกทอมาใช้เป็นดีเทลในชุดต่างๆ ซึ่งปรากฏในแฟชั่นไอเทมที่สวมใส่ง่าย เช่น เสื้อฮาวาย กางเกงขาสั้น และแจ็กเกต พร้อมสอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปในดีไซน์ ผ่านลวดลายเพสลีย์ที่พิมพ์บนผ้าช้าง ซึ่งเป็นคีย์ลุคหลักของคอลเลกชัน รวมถึงเสื้อยืดจากผ้ามัดย้อมที่มีการแต่งแต้มสีสันให้เข้ากับความสนุกสนานแบบไทยๆ เพื่อยกระดับดีไซน์สินค้าไทยให้มีความงามร่วมสมัย ผ่านการออกแบบเป็น unisex สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย พร้อมสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ทั้งยังสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสู่ระดับสากล รายได้ทั้งหมดจากคอลเลกชันนี้จะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการ เซ็นทรัล ทำ ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ
“เซ็นทรัลทำ ร่วมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทอผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร เพื่อเป็นโครงการนำร่องสืบสานต่อยอดแฟชั่นวิถีไทย สร้างคุณค่าผ่านดีไซน์ให้งานฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ผ่านการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 1. โครงการป่าให้สี ปรับปรุงผืนป่า สู่ผืนผ้า เพื่อปรับปรุงป่าชุมชนให้เป็นพื้นที่รวมพันธุ์ไม้ให้สีย้อมผ้าของชุมชน พื้นที่ 18 ไร่ เพื่อรวบรวมข้อมูลพันธุ์ไม้ทางพฤกษศาสตร์เป็นฐานข้อมูล ทำให้ชุมชนรู้จักพันธุ์ไม้ของตัวเองและยังเชื่อมโยงสู่การอนุรักษ์ป่าชุมชนและการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบของชุมชนด้วย 2. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดพันธุ์ไม้จากพื้นที่ป่าให้สี มาทดสอบการให้สีย้อมผ้า จนสามารถพัฒนาได้ถึง 8 เฉดสี เช่น สีเหลืองจากเพกา สีชมพูจากมะหาด สีแดงจากฝาง สีเขียวจากไผ่กิมซุง สีส้มจากยอปา สีม่วงจากสัก สีน้ำตาลจากโคลงเคลงป่า และสีนำเงินจากคราม รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้สีที่มีความสม่ำเสมอและผลิตได้จำนวนมาก จนสามารถต่อยอดให้เกิดโปรเจ็กต์ good goods x Moo Bangkok ได้จริง และ 3.ด้านการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ชุมชนต่างๆ ในการเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเเพื่อมาเรียนรู้การทอผ้าย้อมครามหรือท่องเที่ยวในชุมชน ผ่านการจัดอาหารสำรับภูไทบ้านกุดจิก ขนมและเครื่องดื่มจากข้าวฮาง การต้อนรับดูแลนักท่องเที่ยว กิจกรรม workshop ย้อมผ้าสีธรรมชาติจากป่าให้สี การจัดแพ็กเกจและแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการขยะในชุมชนด้วย” คุณพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มแฟชั่น ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่ทำรายได้ให้ good goods ด้วยสัดส่วนราว 50% ตามมาด้วยกลุ่มของกิน และกาแฟ ด้วยสัดส่วน 30% ที่เหลืออีก 20% เป็นสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เช่น เครื่องประดับ เครื่องหอม รวมทั้งกำลังจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มจิวเวลรี่มาทำตลาดในช่วงปลายปี ขณะที่ยอดขายหลักราว 70% มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 30% มาจากกลุ่มคนไทย โดยในสิ้นปีที่ผ่านมาทำรายได้รวม 200 ล้านบาท และตั้งเป้าเติบโตเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 400 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ รวมท้ังการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเติมในพอร์ตโฟลิโอทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง