Top StoriesTrending

ม.หอการค้า เปิด Poll พฤติกรรมใช้จ่ายวันมาฆบูชา และวาเลนไทน์​ 2568 คาดเงินสะพัด​ 5,200 ล้านบาท

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยพฤติกรรมการใช้จ่ายและทัศนะของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ และมาฆบูชา คาดจะมีเงินสะพัดรวม 2 เทศกาลราว 5,200 ล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ อาจารย์อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมด้วย อาจารย์วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คน ทั่วประเทศ พบพฤติกรรมการใช้จ่ายและทัศนะของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ และมาฆบูชา  โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดรวมทั้ง 2 เทศกาลราว 5,200 ล้านบาท โดยจำนวนเงินสะพัดในวันมาฆบูชา  2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.81% ส่วนวันวาเลนไทน์ จะมีเงินสะพัดเกือบ 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.2%

โดยพฤติกรรมคนไทยในช่วงวันมาฆบูชา พบว่า แม้ภาพรวมผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยัง​ระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่ช่วงเทศกาลวันมาฆบูชาจะ​​มีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 2,500 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 4 ปี หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 คลี่คลายลง ​ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น​​ 2.8% แต่ยังเป็นการขยายตัวในระดับต่ำกว่าปี 2560 ที่มีมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมทำบุญมากกว่าการจับจ่ายใช้สอยในการเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์เงินสะพัดจากการการท่องเที่ยวจึงไม่คึกคัก

นอกจากนี้ ยังมีหนึ่งในอินไซต์ที่น่าสนใจของพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงมาฆบูชาปีนี้ ที่มีถึงราว 1 ใน 4 (25.5%) ที่มองว่า บรรยากาศจะคึกคัดน้อยลงกว่าเดิม ขณะที่ผู้ที่มองว่าคึกคักมากขึ้น 23.4% และคึกคักเท่าเดิม 51.1% โดยมีสัดส่วนเท่ากับผู้ที่วางแผนว่าจะไปไหว้พระทำบุญในวันมาฆบูชา ขณะที่อีก 35.1% ตอบว่าจะไม่ไป และ 13.8%  ที่ยังไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ สาเหตุหลักๆ ของผู้ที่ตอบว่าจะไม่ไปทำบุญไหว้พระในวันมาฆบูชาปีนี้ ส่วนใหญ่ (38.5%) ให้เหตุผลว่า อยากพักผ่อนอยู่บ้าน ขณะที่มีถึง 1 ใน 5 (20.5%) กังวลปัญหาฝุ่น PM2.5  รวมทั้งบางส่วนที่กังวลเรื่องโรคติดต่อ (10.7%) ต้องการประหยัด (10.1%)​ และกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี (7.1%)

ขณะที่ 5 อันดับ สำหรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลมาฆบูชา พบว่า  ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางศาสนา โดยอันดับ 1 เป็นการไปเวียนเทียน 52.8% ด้วยงบประมาณ​เฉลี่ย 274.8 บาท, ตามมาด้วย ตักบาตร 50.7% ​งบประมาณเฉลี่ย 234.5 บาท,  ทำบุญ 42.8% ด้วยงบประมาณเฉลี่ย  694.3 บาท ตามมาด้วยกิจกรรม​ปล่อยนก ปล่อยปลา ไถ่ชีวิตสัตว์ 33.4%  ด้วยงบเฉลี่ย​​ 399.2 บาท และซื้อสังฆภัณฑ์ 30.8%  ด้วยงบเฉลี่ย ​698.3 บาท ​

สำหรับเทศกาลวันวาเลนไทน์ ปี 2568 พบว่า วาเลนไทน์ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ และต่อเนื่องวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ภาพรวมผู้บริโภคส่วนใหญ่ เชื่อว่าบรรยากาศปีนี้จะคึกคักเหมือนกับปีที่ผ่านมา และสามารถเร่งการจับจ่ายใช้สอยได้ ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้นโดยขยายตัว 7.2% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูง และมีมูลค่าการใช้จ่ายเงินสะพัดโดยรวมอยู่ที่ 2,699.65 ล้านบาท หรือ ราว 2,700 ล้านบาท นับว่าสูงสุดนั้บตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา

โดยมีค่าใช้จ่ายโดยรวมเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 2,287.34 บาท สูงสุดในรอบ 6 ปี  และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนเฉพาะซื้อของสำหรับมอบให้คู่รัก จำแนกตาม Gen พบว่า เฉลี่ยรวมอยู่ที่ 1,201.54 บาทต่อคน โดย Gen X มากสุดเฉลี่ย 1,663.15 บาทต่อคน รองลงมาเป็น GenY 1,238.09 บาทต่อคน และGenZ 617.95 บาทต่อคน

สำหรับ 5 อันดับ แผนการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ ได้แก่​  ไปทานข้าวนอกบ้าน 46.8% ด้วยงบประมาณเฉลี่ย 1,529.38 บาท , ซื้อของขวัญ​​ 38.6% ​ด้วยงบเฉลี่ย 1,464.86 บาท, ​ไปเดินห้าง 30.0%  งบ​เฉลี่ย 1,200.05 บาท, ​​ ซื้อดอกไม้ 21.9% งบ​เฉลี่ย 267.59 บาท และไป​ดูหนัง 12.9%  ด้วยงบเฉลี่ย  507.86 บาท