บ้านปู ตอกย้ำ Greener & Smarter ขยายพอร์ตพลังงานสะอาด สร้าง New S-Curve กลุ่ม Non-energy รับมือทุกความผันผวน

บ้านปู มุ่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาด​ เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter รวมทั้งสร้าง New S-Curve ใหม่ ขยายการลงทุนในกองทุนเฮลธ์แคร์ในสหรัฐอเมริกา พร้อมปิดดีลขยายกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอเมริกา และจับมือพันธมิตรสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออน บุกตลาดรถอีวี

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทวางแนวทางในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่เป้าหมายสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เพื่อสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 4 ธุรกิจหลัก คือธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ  ในระบบนิเวศทางธุรกิจ จากการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน โดยเฉพาะการขยายพอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้น เพื่อสร้าง New S-Curve ใหม่ให้ธุรกิจจากกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่ารายได้ในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% ภายในปี 2568 ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้  ในกลุ่มเทคโนโลยี มีขยายการลงทุนไปในกลุ่ม Non-emergy แล้ว 150 ล้านเหรียญสหรัฐ  ผ่านกองทุนด้านเฮ้ลท์แคร์ในอเมริกา ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและอยู่ในเมกะเทรนด์ของการลงทุน รวมทั้งยังเป็นหนึ่งรูปแบบในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนให้ธุรกิจอีกแนวทางหนึ่งด้วย ซึ่งนอกจากการลงทุนผ่านกองทุนในอนาคตอาจมีการลงทุนโดยตรง ทั้งกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดสหรัฐ ธุรกิจเอกชน หรือธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้าง New Pillar ในกลุ่มของ Non-energy ให้มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในโครงการสำคัญอื่นๆ  เช่น การร่วมเป็นพันธมิตรกับดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลก และเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับ e-Bus ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2569 พร้อมบุกตลาดรถอีวีในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งมีการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่านบริษัทย่อยของบ้านปู ในการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์ รวม 7.27 เมกะวัตต์

ส่วนการขับเคลื่อนในกลุ่มธุรกิจเดิม​ อย่าง กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน นั้น ในกลุ่มธุรกิจเหมือง ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งจากราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนกลุ่มก๊าซธรรมชาติ ก็มีราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงมากขึ้น แต่อุปทานตึงตัว ประกอบกับ การปิดดีลเจรจาธุรกิจก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ สหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ทำให้มีความสามารถในการผลิตกลุ่มก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจาก 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน เป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน   

ส่วน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้า ในกลุ่มเชื้อเพลิงทั่วไป สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีการลงทุนขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และน็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมการเดินเครื่อง (Pre-commissioning) เพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เมื่อมีการเรียกกระแสไฟฟ้าจากผู้รับซื้อไฟ (EVN)

ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนตามแผน 5 ปี ไว้ที่ 3,000 -4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนตามแนวทาง Greener & Smarter เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการต่อยอดจากเฟสก่อนหน้า ที่งบลงทุน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ​ ได้นำไปใช้ตามแนวทาง Greener & Smarter สูงถึง 95%  ขณะที่รายได้รวมในปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ สามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขาย รวม 3,029 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 102,496 ล้านบาท​ เพิ่มขึ้น​ 97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 1,543 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 52,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 682 ล้านเหรียญสหรัฐ ​หรือ​ 23,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 634% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากความต้องการใช้พลังงานที่ต่อเนื่องและอุปทานที่มีจำกัด

“ผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกปี 2565 นี้ นอกจากปัจจัยราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นผลจากการเร่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีพลังงานแบบก้าวกระโดดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ มีการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติและธุรกิจกลางน้ำที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ทั้งยังได้ลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Sequestration: CCS) ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ในรัฐเท็กซัส ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญสู่การยกระดับความยั่งยืนในกระบวนการผลิตภายใต้หลัก ESG ที่เรายึดถือมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตฟอลิโอทางธุรกิจและสร้าง  New S-Curve โดยเริ่มจากการลงทุนในกองทุนด้านเฮลธ์แคร์ นับเป็นการเปิดมิติใหม่สู่ธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้คน (Life-Betterment) โดยเรายังคงเดินหน้าเสริมสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานอย่างครบวงจรจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความแข็งแกร่งในระยะยาว สามารถสร้างสมดุลของผลการดำเนินงาน และลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งสภาวะตลาด เศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย

 

Stay Connected
Latest News