‘พี่วัวถูกใจสิ่งนี้’ สตาร์ทอัพอเมริกาพัฒนา ‘เล็มน่า’ สุดยอดพืชน้ำ ทดแทนอาหารสัตว์ ลดคาร์บอนได้มากกว่า แถมช่วยลดมีเทนจาก ‘ตดวัว’

หลายครั้งที่มักมีการเชื่อมโยงผลกระทบของการทำปศุสัตว์กับปัญหาสภาพอากาศ  พร้อมข้อมูลอ้างอิงสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)​ จากภาคปศุสัตว์รวมไปถึงอุตสาหกรรมวัวนม ที่คำนวนออกมาได้ถึง 14.50% ของการปล่อย GHG ทั่วโลก ​โดยที่ยังไม่ได้รวมจากปัจจัยจากการขนส่งเข้าไปด้วย ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นชินคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ‘ตดวัวทำให้โลกร้อน’

แต่ถึงแม้จะมีการศึกษายืนยันถึงผลกระทบต่อสภาพอากาศ แต่การทำปศุสัตว์ก็ยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตอาหารของมนุษยชาติ โดยมีการประเมินจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The UN Food and Agriculture Organization) ระบุความต้องการเนื้อสัตว์และการบริโภคนมของประชากรโลกจะเติบโตเพิ่มกว่าเท่าตัว ภายในปี 2050 การทำปศุสัตว์จึงยังคงมีความจำเป็นอย่างมาก แม้จะเริ่มเห็นการเติบโตของกลุ่มอาหาร Plant Base ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางจากความพยายามที่จะลดผลกระทบในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นก็ตาม

ขณะที่ FYTO สตาร์ทอัพจากแคลิฟอร์เนีย ได้นำเสนออีกหนึ่งโซลูชั่นท่ีเชื่อว่าจะช่วยปฏิวัติให้แวดวงปศุสัตว์สามารถลดผลกระทบเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อีกทางหนึ่ง ด้วยการพัฒนาพืชน้ำในตระกูลแหน ที่ชื่อว่า เล็มน่า (Lemna)  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” ในกลุ่มอาหารสัตว์คงไม่ผิดนัก เพราะสามารถนำมาใช้ในเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเข้าไปทดแทนอาหารวัวได้ถึง 50% จากปริมาณอาหารที่วัวกิน ซึ่งมีทั้งกลุ่มธัญพืช ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หญ้า และโปรตีนเข้มข้นจากถั่วเหลือง

โดยเล็มน่า มีคุณค่าทางโภชนาการสูงทั้งกรดอะมิโน แร่ธาตุ กรดไขมัน และวิตามิน ที่สามารถทดแทนถั่วเหลืองและหญ้าได้ในอัตรา 1:1  ช่วยลดปริมาณการนำถั่วเหลืองและหญ้ามาเป็นอาหารสัตว์ในภาพรวมลงได้ จึงดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากการปลูกถั่วเหลือง และหญ้าจำเป็นต้องใช้ทั้งพื้นที่และน้ำเป็นจำนวนมาก ขณะที่เล็มน่าใช้พื้นที่ในการปลูกที่น้อยกว่าจึงเบียดบังพื้นที่ป่าน้อยกว่า รวมทั้งการปลูกได้ในน้ำทำให้ไม่ต้องใช้ดินและปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก ประกอบกับมีการเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตเร็วกว่าถั่วเหลืองถึง 10-20 เท่า

นอกจากนี้ ด้วยกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น สามารถปลูกเองได้ในฟาร์ม จึงช่วยทั้งประหยัดต้นทุนในการขนส่ง รวมทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า โดยคาดว่าการใช้เล็มน่ามาเป็นอาหารให้วัวนม จะสามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของอุตสาหกรรมวัวนมลงได้กว่า 40%

นอกจากในเชิงกระบวนการผลิต และการไปทดแทนซัพพลายอาหารสัตว์ที่ระบบการผลิตส่งต่อกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแล้ว โครงสร้างทางชีวภาพของเล็มน่าเอง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการในระดับสูงแต่สามารถย่อยได้ง่ายมากกว่า และดีต่อระบบลำไส้และการย่อยอาหารของวัวมากกว่า จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน จากการเรอหรือตดของวัวลงได้​อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

source

source

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม