ธนาคารกรุงเทพ หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ BCG Model ชู Best Practice ​ส่งต่อคุณค่าธุรกิจให้เติบโตได้ตลอดซัพพลายเชน

บทบาทสำคัญของภาคการเงิน คือการเข้ามาช่วยเหลือการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าในช่วงเปลี่ยนผ่านต่างๆ เพื่อสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่การทำธุรกิจต้องมีมากกว่าแค่การเติบโตของยอดขายหรือกำไร แต่ต้องสามารถขับเคลื่อธุรกิจโดยไม่สร้างผลกระทบเชิงลบทั้งต่อผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจ สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นที่ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์​ ‘Creating Value for a Sustainable Future’ ​โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการผ่านผลิตภัณฑ์ สินเชื่อบัวหลวงกรีน ที่จัดสรรเงินทุนไว้เพื่อสนับสนุน​ธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นในกลุ่มการลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable) เพื่อลดการสร้างมลพิษทางอากาศ การลงทุนในเรื่องของการใช้มรัพยากรหมุนเวียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในมิติของ Reduce, Reuse หรือ Recycle หรือในแง่ของการพัฒนานวัตกรรมด้านชีวภาพ เพื่อลดการใช้สารเคมี หรือในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นต้น

คุณทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการหลายรายเริ่มปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ให้เข้ากับบริบทและวาระของชาติที่ขับเคลื่อนสู่ BCG Economy  ซึ่งธนาคารต้องประสานความร่วมมือกับลูกค้าดังกล่าว ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งต่อความรู้และประสบการณ์โมเดลธุรกิจยุคใหม่ไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green)

“ที่ผ่านมาธนาคารให้การสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SME เพื่อการเปลี่ยนผ่านให้สอดคล้องกับ BCG Economy ภายใต้การอนุมัติสินเชื่อบัวหลวงกรีนมาแล้วกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องเงินสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้ผู้ประกอบการ ด้วยการแนะนำผู้เชี่ยวชาญ​ หรือหน่วยงานที่สามารถสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ งบประมาณ หรือช่วยหาตลาดให้ผู้ประกอบการ​ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตและแข็งแกร่งแก่ผู้ประกอบการได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้​ที่ผ่านมาเรามีลูกค้าที่ประสบความสำเร็จในการสรรค์สร้างนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร และปรับโมเดลธุรกิจสู่รูปแบบใหม่ที่สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว”​

โชว์เคสผ่าน Best Practice 

ตัวอย่างจาก 2 ผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อบัวหลวงกรีน ของธนาคารกรุงเทพ ที่สามารถสร้าง Value Added ทั้งการสร้างคุณค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างสูงสุด รวมทั้งผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างทั้งความแตกต่าง ความแข็งแกร่ง และยังสามารถส่งต่อคุณค่าจากธุรกิจไปยัง Stakeholder ทุกภาคส่วนได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งในส่วนของธุรกิจ ‘บริบูรณ์ฟาร์ม’ เครือข่ายปลูกอะโวคาโด และธุรกิจ Specialty Coffee อย่าง ‘สันติพาณิชย์ Coffee & Roaster’

คุณฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ‘บริบูรณ์ฟาร์ม’ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของบริบูรณ์ฟาร์ม อยู่ที่การปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แนวคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ ร่วมกับนักวิจัย จนได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดน้ำมันอะโวคาโด เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพให้ตรงความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มที่แข็งแกร่งให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันทางบริบูรณ์ฟาร์มยังให้ความสำคัญกับเครือข่าย ส่งเสริมชุมชนให้มีความยั่งยืน โดยร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดในพื้นที่ใกล้เคียงและต้องมีเจตนารมณ์เดียวกัน โดยได้คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมให้ความรู้วิธีการดูแล โดยเน้นให้เกษตรกรในเครือข่ายพัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ  ยังเป็นการช่วยผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่เปลี่ยนจากพืชไร่เชิงเดียวหันมาผลิตพืชยืนต้นที่มีมูลค่าสูงเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นการช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในเครือข่ายอีกด้วย

ด้าน คุณจิรศักดิ์ สุทธาดล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ‘สันติพาณิชย์ Coffee & Roaster’ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างเมล็ดกาแฟ  ที่เรียกว่า Specialty Coffee สิ่งที่สำคัญคือการสร้างคุณภาพมาตรฐานของเมล็ดกาแฟ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การคั่ว จนถึงการ Blend กาแฟต่างสายพันธุ์มาผสมกันเพื่อสร้างรสชาติที่แตกต่างและซับซ้อนให้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดงานวิจัยด้านกระบวนการหลังเก็บเกี่ยว Carbonic Maceration และ Yeast Process เพิ่มคุณภาพและรสชาติของกาแฟทำให้มูลค่าสูงขึ้น (Value added) โดยทางสันติพาณิชย์ยังทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้เข้าใจ Specialty Coffee และได้เชื่อมโยงกับเกษตรกรช่วยสนับสนุนความรู้ด้านกระบวนการผลิต การจัดการหลังเก็บเกี่ยว และที่สำคัญคือรับซื้อกาแฟในราคายุติธรรมตามคุณภาพของกาแฟ เกษตรกรจึงมีการพัฒนาลานตากเมล็ดกาแฟ ลงทุนทำบ่อหมัก รวมถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวและทำให้คุณภาพกาแฟดีขึ้นกลายเป็น Value Chain ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ทุกขั้นตอน ก่อนจะกลายเป็นการเชื่อมโยง Supply Chain ระยะยาว (Long Term Relationship) ระหว่างสันติพาณิชย์และเกษตรกรซึ่งทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน

คุณทัฬห์ กล่าวปิดท้ายว่า ธนาคารให้ความสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SME ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Green Business ผ่านเครื่องมือและเครือข่ายที่มีอยู่ รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือกลาง ​ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังค่อนข้างแข็งแรงสำหรับการเปลี่ยนผ่านอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากในส่วนของสินเชื่อแล้ว ธนาคารยังเข้าไปช่วยเสริมในฐานะส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน เช่น ​การเชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการคุณภาพ ให้เจอกับตลาดใหม่​ ซึ่งอาจต่อยอดเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแค่ลูกค้าจะได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งต่อไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ในอีโคซิสเต็มให้ได้ประโยชน์ร่วมกันได้อีกด้วย ซึ่งธนาคารมีความเชื่อมั่นว่า​ภาคธุรกิจที่แข็งแรงจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่สามารถพัฒนาได้ทั้งสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างสมดุล ก่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

Stay Connected
Latest News